ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบห้องพักดังกล่าว พบว่า หน้าห้องมีตู้ขนาดใหญ่ 2 ตู้ ขวางทางอยู่ คนในหอพักเล่าว่า แม่ของเด็กเป็นคนนำตู้เก่ามาปิดไว้ เพื่อป้องกันคนนอกมองเข้าไปด้านใน เพราะเวลาลูกสาวอาบน้ำเสร็จมักจะเดินไม่ใส่เสื้อผ้าออกจากห้องน้ำภายในซึ่งอยู่ติดกับริมหน้าต่างด้านนอก ส่วนเวลาออกไปทำงาน แม่เด็กมักปิดประตูและล่ามโซ่เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเดินออกจากห้อง
ผู้ดูแลห้องพักดังกล่าว เปิดเผยว่า ปกติลูกสาวของหญิงคนนี้จะพักอาศัยอยู่ที่บ้านราชาวดีหญิง แต่ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้เป็นแม่พาลูกกลับมาพักด้วย เนื่องจากต้องไปพบแพทย์ และก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน ผู้ดูแลห้องพักเดินสวนกับแม่ของเด็ก มีการบ่นถึงความเครียดเรื่องลูกสาวอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นสิ่งปกติที่พูดเป็นประจำ
ส่วนกรณีพบบัตรผู้ป่วยทางจิตของแม่เด็กในห้องพัก ผู้ดูแลห้องและคนในตึกระบุว่า แม่เด็กมีท่าทางปกติ และไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีอาการทางจิต สำหรับแนวทางความคืบหน้าคดี ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปในห้องที่เกิดเหตุเพราะตำรวจเตรียมนำแม่เด็กทำแผนประกอบคำรับสารภาพอีกครั้ง
ด้าน แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ภาพรวมของครอบครัวที่มีผู้ป่วยออทิกติก มักมีความเครียดสะสมเกินกว่าร้อยละ 50 บางรายมีความเครียดสะสมจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า การดูแลคนป่วยจึงควรสลับสับเปลี่ยนกันดูแล หรือ ช่วยกันดูแลทั้งครอบครัวเพื่อไม่ให้คนใดคนหนึ่งเกิดความเครียดมากเกินไป