เริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ ดันราคาสินค้าบาปพุ่ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ กฎกระทรวง กําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 กําหนด พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตสําหรับสินค้าและบริการ ดันภาษีบาปพุ่ง ยาสูบคิด 1.20 บาทต่อมวน ภาษีสุรา เบียร์ เก็บด้านมูลค่าสัดส่วน 60% และด้านปริมาณสัดส่วน 40% และจัดเก็บภาษีตามความหวาน แต่ให้ผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ กฎกระทรวง กําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เพื่อกําหนด พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตสําหรับสินค้าและบริการไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น สินค้ายาสูบ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 จะเก็บทั้งตามมูลค่าและปริมาณรวมกันทั้ง 2 ขา โดยขาปริมาณเดิมคิด 1.10 บาทต่อกรัม เป็น 1.20 บาทต่อมวน ในส่วนของขามูลค่าเดิมเก็บ 90% จะลดลง แบ่งเป็น บุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาท จะเก็บภาษีอัตรา 20% ของราคาขายปลีก และบุหรี่ที่ราคามากกว่า 60 บาท  เก็บอัตรา 40% ของราคาขายปลีก เป็นเวลา 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะเก็บภาษีเป็นอัตราเดียวกันที่ 40%

ขณะที่ ภาษีสุรา เบียร์ จะเก็บทั้งด้านมูลค่าและปริมาณรวมกัน โดยจะเก็บด้านมูลค่าสัดส่วน 60% และด้านปริมาณสัดส่วน 40% จากเดิมภาษีด้านมูลค่ามีสัดส่วน 80% ส่วนด้านปริมาณมีสัดส่วน 20% โดยการเพิ่มสัดส่วนของขาปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อให้เป็นหลักสากลที่ว่าปริมาณแอลกอฮอล์มากต้องเสียภาษีมากขึ้น ด้านภาษีไวน์ใหม่ มีการกำหนดไวน์ราคาที่ 1,000 บาท หากไวน์มีราคาไม่เกิน 1,000 บาท ก็ได้รับการยกเว้นภาษีในขามูลค่า แต่หากราคาเกิน 1,000 บาท จะเสียภาษีที่อัตรา 10% และนำไปคิดรวมกับภาษีด้านปริมาณที่เก็บอยู่ที่ 1,500 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

ขณะที่ การเก็บภาษีจากค่าความหวานจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว เพราะเป็นภาษีใหม่ โดยใน 2 ปีแรกจะไม่มีการปรับเพิ่ม และ 2 ปีต่อไป หากไม่ลดความหวานให้ได้ตามที่กำหนดก็ต้องเสียภาษีเพิ่ม แบ่งเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี , ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร , ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร , ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร , ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมขึ้นไป ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร หลังจากนั้นจะทยอยปรับทุก 2 ปีแบบขั้นบันได

สำหรับภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 บัญญัติให้กรณีการเสียภาษีตามมูลค่าสําหรับสินค้าให้ถือตามราคาขายปลีกแนะนํา โดยต้องพิจารณาจากต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการ และกําไรมาตรฐาน และในกรณีที่ราคาขายปลีกแนะนํา ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด หรือไม่สามารถกําหนดราคาได้ ให้อธิบดีมีอํานาจ ประกาศกําหนดราคาขายปลีกแนะนําตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง จึงจําเป็นต้องออก กฎกระทรวงนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ