ทนายคาดนศ.แพทย์จงใจฆ่าสุนัขเหตุมีการวางแผนล่วงหน้า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นศ.แพทย์ วางยาฆ่าสุนัข หวังเอาเงินประกัน หลังไม่มารายงานตัวตามหมายเรียก ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พบยากลุ่มเกลือแร่ จำนวน 10-12 เม็ด และคราบเม็ดยาสีเหลือง ทนายความยันหากนศ.แพทย์ ไม่ได้ป่วยหนักจนวิกลจริตถือว่ากระทำผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ (18 ก.ย. 60)  นายบรรจง กิติรัตน์ตระการ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยผ่านรายการเป็นเรื่องเป็นข่าวว่า ถึงกรณีนศ.แพทย์ วางยาฆ่าสุนัข หวังเอาเงินประกันว่า ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวอย่างยาของกลางที่พบภายในกระเพาะอาหารสุนัขมาจำนวน 2 ชนิด โดยผลจากการตรวจพิสูจน์พบยาที่มีลักษณะวงรี สีขาว เป็นยาชนิดกลุ่มเกลือแร่ มีจำนวน 10-12 เม็ด และคราบเม็ดยาสีเหลือง เป็นกลุ่มยาลดความดัน ไม่สามารถระบุจำนวนได้ ส่วนยาที่พบในกระเป๋าอีก 1 ชนิด มีลักษณะสีขาวเป็นวงกลม ก็เป็นกลุ่มยาลดความดันเช่นกัน โดยหลังจากตรวจพิสูจน์ทั้งหมดแล้ว จะส่งให้พนักงานสอบสวนนำไปประกอบในเรื่องของวัตถุพยาน เพื่อประกอบสำนวนคดีต่อไป สำหรับกรณีสุนัขได้รับยาเกินขนาดหรือไม่ ต้องไปสอบถามกับทางสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

ด้านนายปรีชา ณ เชียงใหม่ ทนายความ กล่าวว่า ต้องหาสาเหตุการเสียชีวิตของสุนัขว่าเพราะอะไร นักศึกษาแพทย์มีเจตนาให้ยาเกินขนาดหรือไม่ เป็นยาชนิดใด ซึ่งจากการสันนิษฐานนักศึกษาแพทย์ควรจะทราบดีว่าสุนัขจะต้องได้รับยาปริมาณเท่าไหร่ เนื่องจากเรียนแพทย์มาแล้วเกือบ 6 ปี โดยอาจเข้าข่ายเป็นการทารุณสัตว์ ส่วนอาการป่วยทางจิตจะไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพราะไม่ได้ป่วยหนักจนวิกลจริต และต้องไม่รู้สึกตัวในขณะกระทำ แต่นักศึกแพทย์รายดังกล่าว มีการวางแผนขั้นตอนมาเป็นอย่างดี ฉะนั้นไม่สามารถนำมากล่าวอ้างสู้คดีเพื่อยกเว้นความผิดได้ แต่อาจจะทำให้ศาลเห็นใจ และบรรเทาโทษให้ทุเลาลงเท่านั้น

ขณะที่ สพ.ญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย WATCHDOG THAILAND  กล่าวอีกว่า ยาที่พบในกระเพาะสุนัขนั้น หากได้รับปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดโทษได้อย่างแน่นอน ซึ่งปกติแล้วสัตวแพทย์จะไม่ให้ยาลดความดันชนิดนี้กับสัตว์ เพราะสัตว์ไม่ได้ป่วย และยาที่ใช้กับคน บางอย่างจะใช้กับสัตว์ไม่ได้ เช่น ยาพาราเซตามอลคนจะรับประทานได้ แต่ถ้าหากแมวรับประทานจะกลายเป็นยาพิษทันที

ทั้งนี้ สุนัขที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคความดันสูง แต่กลับให้ยาให้ความดันต่ำ ซึ่งเปรียบเทียบหากคนปกติได้รับก็จะมีอาการปวดหัวและหน้ามืด  ส่วนตัวมั่นใจยาดังกล่าวไม่ได้มาจากโรงพยาบาลสัตว์ที่นักศึกษาแพทย์อ้างอิง และกล่าวอ้างในแชทต่างๆ ซึ่งมีหลักฐานเอาไปพิมพ์กล่าวอ้าง และสุนัขที่สุขภาพปกติไม่สมควรจะรับประทานยาเหล่านี้ รวมถึงเป็นไปได้ยากที่จะให้ยากับสุนัขโดยไม่ทราบ เนื่องจากนักศึกษาแพทย์รายนี้มีความรู้ทางด้านยา และกำลังจะจบการศึกษามาเป็นแพทย์ในปีหน้า รวมถึงนักศึกษาแพทย์ให้ยากับสุนัขด้วยตัวเอง แต่กลับอ้างว่ายาชนิดดังกล่าวเป็นวิตามินที่โรงพยาบาลสัตว์ให้มา และกล่าวหาว่าสาเหตุที่สุนัขเสียชีวิตเกิดจากโรงพยาบาลให้ยามาผิดชนิด

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ