ประชาธิปัตย์ จี้เอาผิดตำรวจพา “ยิ่งลักษณ์” หนี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีที่นายตำรวจช่วยเหลือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีออกนอกประเทศ โดยการขับรถไปส่งที่ชายแดนจังหวัดสระแก้ว หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ก็อาจเข้าข่ายความผิดในข้อหา “ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้นโดยซ่อนเร้นหรือช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าวหากจะเป็นความผิดเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อศาลมีการออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้เเล้ว ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 สิงหาคม แต่พันตำรวจเอกชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ขับรถพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปยังจังหวัดสระแก้วในวันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าการฟังคำพิพากษา 2 วัน ดังนั้นการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 189 จะต้องเป็นการกระทำภายหลังจากที่ศาลออกหมายจับไว้เเล้วในวันที่ 25 สิงหาคม อีกทั้งคดีนี้ก็ยังไม่รู้ว่าศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษาออกมาเป็นอย่างไร สอดคล้องกับ พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่บอกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเอาผิดตำรวจทั้ง 3 นาย เพราะว่าในวันที่ 23 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีสถานะเป็นเพียงจำเลยเท่านั้น

ขณะที่ความเห็นด้านอัยการ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ให้ความเห็นกับทีมข่าวพีพีทีวี ว่า การที่พันตำรวจเอกชัยฤทธิ์ พาตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์  ที่มีสถานะเป็นจำเลยระหว่างรอฟังคำพิพากษาไปที่ชายแดน จ.สระแก้ว และไม่พากลับมาด้วยก็ถือว่ามีความผิดแล้ว แต่มองว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นแย้งโดยบอกว่า ตนเองจะไม่ขอพูดถึงกฎหมายมาตรา 189 ตามประมวลกฎหมายอาญาที่กำลังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ขณะนี้ แต่ตนมองไปถึงการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 117 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา “เมื่อผู้ต้องหาหรือจําเลยหนีหรือจะหลบหนีให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจที่พบการกระทําดังกล่าวมีอํานาจจับผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้นได้แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทําสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทําดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจําเลยได้ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงทีก็ให้มีอํานาจจับผู้ต้องหาหรือจําเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจําเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลซึ่งทําสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น”

แม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว จะไม่มีบทอัตราโทษ แต่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่โดยตรงในการปฎิบัติตามมาตรา 117 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยในคดีอาญา และได้รับการประกันตัวจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่ปฎิบัติก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

นอกจากนี้นายราเมศ ยังมองว่า หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องได้ กรณีดังกล่าวอาจกลายเป็นบันทัดฐานของสังคมในอนาคต ที่หลายคนอาจกระทำตามด้วยการพาญาติหรือเพื่อนหลบหนีก่อนการเข้าฟังคำพิพากษา



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ