นายจารนัย ไวธัญญการ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทดลองเลียนแบบเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ให้ทีมข่าวได้ฟัง เขาบอกว่า การใช้ชีวิตในป่าประสาทสัมผัสด้านเสียงสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้จำแนกสัตว์และนายพรานออกจากกัน
ครั้งหนึ่งนายจารนัยเคยเกือบหูหนวก เพราะถูกกระทิงป่วยทำร้ายได้รับผลกระทบบริเวณกกหู แต่ก็ไม่ละทิ้งอุดมการณ์พิทักษ์ป่า ยังคงทำหน้าที่ลาดตระเวนต่อไป
กระทั่งล่าสุดเขาเกือบต้องพิการขาทั้ง 2 ข้าง เพราะถูกกับดักสัตว์หรือปืนผูกของกลุ่มนายพรานยิงใส่ จนเพื่อนต้องช่วยกันหามออกมาจากป่า นายจารนัย ยังบอกอีกว่า แม้ปัจจุบันจะไม่สามารถเดินลาดตระเวนได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ทุกครั้งที่เห็นเพื่อนออกไปทำงาน เขายังมีความหวังว่าขาจะหายเป็นปกติและสามารถกลับเข้าป่าได้อีกครั้ง ทั้งที่รู้ดีว่าการลาดตระเวนแต่ละครั้งมีความเสี่ยงจากการปะทะกับนายพรานล่าสัตว์
แม้จารนัยเกือบจะต้องกลายเป็นคนพิการระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ แต่เขากลับได้รับเงินช่วยเหลือจากทั้งหน่วยงานรัฐ รวมทั้งมูลนิธิต่างๆ รวมแล้วเพียงไม่กี่หมื่นบาท
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุปัญหาเรื่องงบประมาณที่ใช้ในงานพิทักษ์ป่าว่า ส่วนใหญ่ผู้พิทักษ์ป่าเป็นบุคลากรที่มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ ที่ไม่มีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ ขณะที่งบประมาณของรัฐไม่มีงบเฉพาะสำหรับงานลาดตระเวน ทำให้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้พิทักษ์ป่าต้องใช้เงินเดือนซื้ออุปกรณ์ปฏิบัติงานเอง
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่ามานานกว่า 28 ปี แต่ข้อมูลนี้ดูเหมือนจะสวนทางกับฝั่งรัฐบาล เพราะล่าสุด พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ที่ระบุว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ และ เครื่องมือในการปฎิบัติงาน ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพียงพอ
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาวว่า จำเป็นต้องแยกงานลาดตระเวนออกมาเป็นภารกิจหลัก เพื่อจัดสรรงบประมาณให้โดยเฉพาะ โดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทำงานด้านพิทักษ์ ก็ควรได้รับในมาตรฐานเดียวกันทหาร