เมื่อวันที่ (2 พ.ค. 61) นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อธิบายว่าจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก พบว่าสารต้องห้ามที่ผู้ประกอบการมักนำมาผสมในผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่เป็นยาระบาย และกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท
กลุ่มที่เป็นยาระบาย ยกตัวอย่างเช่นสาร”บีซาโคดิล” ที่อย.ตรวจพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้องลีน สารต้องห้ามกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ ทำให้ท้องเสีย ร่างการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่วนกลุ่มที่เป็นยาออกฤทธิ์ประสาทและสมอง กลุ่มนี้จะทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย และน้ำหนักตัวลด ส่วนผลข้างเคียงจะทำให้ปวดหัว นอนไม่หลับ และบางรายอาจถึงขั้นหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้น
นอกจากสองกลุ่มนี้ยังมีสารต้องห้ามอีกหลายตัว เช่นฮอร์โมนไทรอยด์ ยาขับปัสสาวะ และยาที่ไปยับยั้งเอนไซม์ย่อยไขมัน ซึ่งตัวยาหลายตัวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่ยังใช้อยู่ในการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และหากนำผสมกัน หรือนำมาใช้โดยไม่อยู่ในการควบคุมของแพทย์ จะส่งผลอันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
รองเลขาธิการ อย.ยังระบุอีกว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เสริมสร้างร่างกายหรือทดแทนวิตตามินที่ขาดหายไปเท่านั้น อย.จึงไม่เคยอนุญาตผลิตภัณฑ์ตัวใดที่มีคุณสมบัติเป็นยาลดความอ้วน ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาว่ามีคุณสมบัติลดน้ำหนัก ก็อาจเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นอาจมีส่วนผสมของสารต้องห้ามดังกล่าว ยังชี้แจงด้วยว่าการอนุญาตจดแจ้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย. จะพิจารณาจากข้อมูลที่ผู้ประกอบการยื่นมาทางระบบออนไลน์ หากเป็นสูตรที่เคยอนุญาตไปแล้วก็จะอนุมัติได้ไว แต่หากเป็นสูตรใหม่ก็จะตรวจสอบละเอียดขึ้นแล้วจึงอนุมัติ
หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการสุ่มตรวจตัวผลิตภัณฑ์ โดย อย.ไม่มีกฏหมายรองรับให้ผู้ประกอบการต้องส่งผลิตภัณฑ์ทุกตัวมาตรวจสอบก่อน โดยในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่มีเลขจดแจ้ง อย. มากกว่า สามหมื่นรายการ ใน 3 หมื่นรายการ ผ่านการสุ่มตรวจไป 230 รายการ และพบว่า ยังมีผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ ส่งเอกสารเพื่อขอเลขจดแจ้ง อย.ต่อเนื่อง
ขณะที่การควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางเกินจริง วันพรุ่งนี้ (3พ.ค.61) อย.จะหารือร่วมกับกสทช.ถึงแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคทางวิทยุ โทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวี โดยเฉพาะการกำหนดถ้อยคำในการโฆษณา หากมีลักษณะทำให้คนเข้าผิดว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเห็นผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่ามีความผิด