เตรียมสั่งปิดโรงงานชาวไต้หวัน คาดนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 1 ล้านตัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยังคงเดินหน้าขยายผลตรวจสอบ โรงงานคัดแยกขยะ และโรงงานรีไซเคิล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลังตรวจพบ ชิ้นส่วนที่กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากใน จ.ฉะเชิงเทรา และพบว่า มีบางส่วนถูกส่งมาจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งเป็นโกดังพักชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และตรวจพบความผิดหลายข้อหา ทั้งลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเปิดโรงงานรีไซเคิลของเสียอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อวันที่ (24 พ.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ถูกตรวจพบที่โรงงาน บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่ง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมเข้าตรวจสอบขยายผล หลังมีข้อมูลว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับโรงงานรีไซเคิลที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถูกตรวจสอบไปในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกกองอยู่นอกตัวโรงงาน และบริเวณชั้นล่างของโรงงาน มีห้องเก็บซากโทรศัพท์มือถือเก่า แบตเตอรี่นิกเกิล แบตเตอรีตะกั่วกรด ซ่อนอยู่ใต้ผ้าใบ และนี่เป็นหลักฐานสำคัญ เพราะถือเป็นของเสียอันตราย ที่ไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ และไม่มีโรงงานรับกำจัดของเสียจากแบตเตตอรี่เหล่านี้ในประเทศไทย

บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด มีนายซิ้น อัน สวี ชาวไต้หวัน เป็นกรรมการบริษัท จดทะเบียน เพื่อประกอบธุรกิจเก็บรวบรวมของเสียที่ไม่เป็นอันตราย ประมาณ 8 หมื่น 6 พันตัน แต่วัสดุที่พบในโรงงาน เป็นของเสียอันตราย ซึ่งไม่ตรงกับใบอนุญาต เมื่อตรวจสอบเอกสารการนำเข้าสินค้าบางส่วนในห้องบัญชี พบว่า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี ถูกนำเข้ามาจาก 4 ประเทศ คือ ศรีลังกา ฮ่องกง อังกฤษ และสิงคโปร์ บางส่วนส่งไปโรงงานรีไซเคิลคัดแยกใน จ.ฉะเชิงเทรา เบื้องต้นดำเนินคดีทั้งหมด 7 ข้อหา มีข้อหาที่สำคัญ คือ นำเข้าวัตถุอันตราย ประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครองครองวัตถุอันตราย  ประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่โดยไม่ได้รับอนุญาต นำเข้าแบตเตอรี่ตะกั่วกรด นิกเกิล แคดเมี่ยม ลิเที่ยม โดยไม่ได้รับอนุญาต สำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ  หลีกเลี่ยงภาษีอากร  และลักลอบหนีศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลากร

แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่า โรงงานนี้ ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับของเสียอันตราย ซึ่งไม่ตรงกับใบอนุญาตที่ขอตั้งโรงงานเก็บของเสีย “ไม่อันตราย” กรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า การตรวจสอบโรงงานว่าประกอบกิจการตามที่ขอจดทะเบียนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ตัวแทนสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ยืนยันด้วยว่า จะเร่งเพิกถอนสิทธิในการขอใช้ที่ดิน และปิดโรงงานแห่งนี้ตามขั้นตอน การสำแดงข้อมูลนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเท็จ เป็นประเด็นที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มองว่า ทำให้การผลักขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับไปยังประเทศต้นทางเป็นไปได้ยาก และยังตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานแห่งนี้อาจนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 1 ล้านตัน แต่แจ้งขอเก็บของเสีย “ไม่อันตราย” เพียง 86,000 ตัน

แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถูกนำเข้าผ่านกระบวนการศุลการกรมาทางเรือ โดยจะอ้างว่า ส่งไปแหล่งปลายทางที่ จ.สระบุรี และ จ.สระแก้ว ซึ่งมีเตาเผาของเสียอันตราย ที่มีประสิทธิภาพถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้อง มีราคาสูงถึงตันละ 1 หมื่นบาท – 3 หมื่นบาท จึงเกิดขบวนการนำขยะเหล่านี้ไปทิ้งผ่านโรงงานคัดแยกขยะ และโรงงานรีไซเคิลใน จ.ฉะเชิงเทรา

ทีมข่าว PPTV ตรวจสอบกับนักวิชาการ และนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ยังพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไมของเสียอันตรายเหล่านี้ จึงถูกนำเข้ามายังประเทศไทยได้ ทั้งที่เป็นภาคีในอนุสัญญาบาเซล ที่ห้ามเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน และได้ข้อมูลว่า อาจเกิดปัญหาจาก “คำนิยาม” ซึ่งกลุ่มโรงงาน ที่นำเข้า แจ้งว่านำเข้า “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”  หรือ “ของมือ 2” แทนคำว่า ขยะ จุงทำให้สามารถผ่านกระบวนการทางศุลกากรมาได้ โดยอาศัยใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล เป็นเอกสารแจ้งขอนำเข้า  ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า มีความพยายามจาหกผู้ประกอบการหลายรูปแบบที่จะนำเข้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการให้คำนิยามเป็นสินค้ามือสอง หรือชิ้นส่วนที่ยังนำมาซ่อมแซมได้ ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง

ทีมข่าว PPTV ได้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม ว่าที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่มีกลุ่มทุนจากจัน พยายามขออนุญาตตั้งโรงงานรีไซเคิล ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่พบใน จ.ฉะเชิงเทรา  กองวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ที่เห็น คือภาพที่ชาวบ้านตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อ้างว่าเป็นภาพที่ถ่ายได้จากโรงงานของบริษัทมงคลไทยและธุรกิจ จำกัด ในพื้นที่ตำบลเดียวกัน เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  แม้ชาวบ้าน ซึ่งนำโดยนางสาวผัลย์ศุภา แดงประดับจะเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานท้องถิ่น จนได้รับคำยืนยันว่า กองวัสดุดังกล่าวอาจมีสารปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดอันตราย พร้อมมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 17 มีนาคม

แต่ภาพนิ่งอีกชุดที่ชาวบ้านบันทึกไว้ กลับพบว่า หลังโรงงานแห่งนี้ก่อสร้างอาคารเสร็จสิ้น มีวัสดุคล้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายในอาคารจำนวนมาก ภาพนี้ชาวบ้านระบุว่าถ่ายไว้เมื่อวันที่9พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเอกสารขออนุญาตจดทะเบียนเป็นโรงงานประเภท105 ซึ่งตามเอกสารของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ระบุว่า เป็น โรงงานคัดแยกสิ่งปฎิกุลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย

นี่เป็นข้อสังเกตที่ชาวบ้านเชื่อว่า กองวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ไม่จัดอยู่ในวัสดุที่โรงงานแห่งนี้จะสามารถนำมาเก็บไว้ได้ เพราะ หากจะดำเนินการใดใดกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภท106 คือ กิจการถอดแยกชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก่อน ซึ่งโรงงานนี้เคยยื่นขอใบอนุญาตโรงงาน106ไป แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านจนเรื่องถูกชะลอออกไปก่อน  การมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายในโรงงาน จึงทำให้เกิดความไม่สบายใจ และคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นความพยายา เปิดโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกัน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ