โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้ ประสบการณ์ในอดีตอาจหล่อหลอมให้เกิด “รักต้องฆ่า”
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
เมื่อวานนี้เกิด 2 เหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมความรัก ของชายหญิง 2 คู่ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์มีชนวนเหตุเกิดจากการที่ฝ่ายชายมาง้อขอคืนดีกับฝ่ายหญิง แต่ไม่สำเร็จ จึงใช้อาวุธปืนยิงฝ่ายหญิงจนเสียชีวิต ก่อนจะยิงตัวเองเสียชีวิตตามฝ่ายหญิง เพื่อปิดฉากความรักที่ไม่สมหวัง

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นแล้วหลายครั้ง ส่วนสาเหตุของการก่อเหตุก็ไม่สามารถที่ล่วงรู้ได้เนื่องจากผู้ก่อเหตุก็ได้เสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน
ปัจจัยการก่อเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เนื่องจากแต่ละบุคคลมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน บางคนสามารถทำใจยอมรับได้เมื่อต้องถูกบอกเลิก และยอมจบความรักโดยดี บางคนอาจใช้วิธีอ้อนวอน ขอร้อง แต่บางคนอาจเลือกที่จะใช้ความรุนแรงในการต่อรองเรื่องความรัก เพราะเคยชินกับการใช้ความรุนแรงมาก่อน หรือที่สุดแล้วบางคนอาจเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ณ ขณะนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นความรักไม่ใช่ปัญหาของเรื่องนี้ แต่ปัญหาหลัก คือ ความไม่สมหวัง ความรู้สึกนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งต้องคิดว่าหลังเกิดปัญหานี้ขึ้นจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร โดยอาจเกิดจากการเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งทางบวก และทางลบ เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ ทั้งทางบวกและทางลบ บางคนตอนวัยเด็กเคยถูกทำร้ายมาก่อน ความเจ็บปวดเกาะกินความรู้สึกมาโดยตลอด เมื่อโตมาก็มาทำร้ายผู้อื่นต่อ ในขณะที่บางคนก็อาจจะเอาสิ่งนั้น มาเป็นพลังในการจัดการเรื่องนี้
นอกจากสื่อต่างๆที่เป็นปัจจัย ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกันสำหรับปัญหาความรุนแรง เนื่องจากในปัจจุบันสื่อมีหลายประเภท ทั้งเกมส์ ละคร และข่าว พ่อแม่ควรอยู่ดูเป็นเพื่อนว่าแบบใดดีหรือไม่ดี ควรสอนวีการแก้ไข รวมถึงวิธีการรับมือจากสิ่งต่างๆที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก
ด้าน ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานคณะกรรมการหลักสูตรอาชญาวิทยา สถาบันอาชญาวิทยา ม.รังสิต เปิดเผยว่า เคยมีผู้ทำวิจัย และได้สัมภาษณ์นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ถึงช่วงวินาทีที่ตัดสินใจทำร้าย หรือ ฆ่าผู้อื่น ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ ระบุว่า ณ ขณะเกิดเหตุการณ์ไม่ได้ใช้สติ แต่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ฆ่า ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในเริ่มต้นจากครอบครัว การขัดเกลาทางสังคม รวมถึงการใช้อารมณ์ และการแสดงออกตั้งแต่วัยเด็ก
จากข้อมูลในเรือนจำเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มาจากครอบครัวที่อย่าร้าง ส่วนใหญ่คือวัยเด็กเคยถูกใช้ความรุนแรงเช่นกัน พวกเขาเคยชินกับสิ่งแบบนี้ จึงส่งผลถึงตัวตนของเขา ขณะที่ปัจจัยภาพนอก คือ สื่อ และสังคมออนไลน์ เป็นตัวแบบ ถ้าสิ่งที่เขายึดเป็นตัวแบบที่ดี เขาก็จะทำในสิ่งที่ดี แต่หากสิ่งที่เขายึดเป้นต้วแบบที่ไม่ดี ก็มีโอกาสที่เขาจะปฏิบัติตามได้
โดยสิ่งที่ ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ แนะนำ คือ ช่วงเวลาที่คบกันควรสังเกตพฤติกรรม ว่าคนรักเป็นคนอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร เป็นคนที่จิตใจโอบอ้อมอารี และสามารถยับยั้งชั่งใจโกรธได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ นับเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งถือเป็นการเตรียมการณ์ เพราะการที่จะมาขอคืนดี ไม่มีความจำเป็นต้องนำอาวุธไปด้วย
ทั้งนี้ หากทราบว่าตัวเรากำลังตกอยู่สถานการณ์นั้นควรใช้สติ ทำให้สถานการณ์เบาบางลง อย่าไปท้าทายสถานการณ์ ฟางเส้นสุดท้ายมีโอกาสขาดได้ ต้องพูดโน้มน้าวให้ฝ่ายตรงข้ามเบาลง เพื่อป้องกันการเกิดเรื่องราวไม่คาดฝัน
ชมคลิปที่นี่ : “โฆษกกรมสุขภาพจิต” ชี้กรณี “ฆ่าแฟนทิ้ง-ยิงตัวตาย” มาจากครอบครัวบ่มเพาะ “ความรุนแรง”
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้