เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธฯ เชื่อ “คดีเงินทอนวัด” ยังมีอีกหลายล็อต
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
จากกรณีนายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ กองคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการออกหมายจับ “พระชั้นผู้ใหญ่” ในคดีทุจริตเงินทอนวัดในล็อตที่ 4 โดยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ จนทำให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งให้นายพิสิฐชัย พ้นจากหน้าที่เดิม แม้จะยังไม่มีการยืนยันความชัดเจนจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น แต่บุคคลที่อยู่ในแวดวงศาสนามองว่า คดีนี้ไม่จบแค่ล็อตที่ 3 หรือ 4 แน่นอน

วันนี้ (11 มิ.ย.61) “กรณ์ มีดี” เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย เปิดเผยในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าวว่า เชื่อว่าคดีนี้ไม่จบเท่านี้ที่ล็อต 3 หรือล็อต4 เพราะเท่าที่มีข้อมูลนั้นมีถึง 400 วัด เท่าที่ปรากฎออกมาตั้งแต่ล็อต 1 นั้นยังไม่ถึงครึ่ง โดยล็อต 3 ที่ผ่านมานั้นเป็นรอบที่ฮือฮามาก แต่รอบ4 ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอท่านนั้นโพสต์ข้อความหรือไม่ หรืออาจจะเป็นล็อต 4 พอดีแต่พอเป็นข่าวก็อาจจะเอาล็อต 5 มาสลับก็ได้ ล็อต 4 เก็บไว้ก่อนก็ได้
“สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นชาวพุทธไม่ได้มองแค่จุดนี้จุดเดียว เพราะในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาทั้งการปิดวิทยุช่องพระพุทธศาสนาทั้งหมด ตรวจสอบวัดป่าว่าเป็นพื้นที่บุกรุกป่า การเก็บภาษีวัด ก่อนจะมาถึงเรื่องเงินทอนวัด แม้จะเป็นเรื่องของการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส แต่ก็ทำให้คนมองพระสงฆ์ในแง่ลบ จริงๆเรื่องเงินทอนวัดพระสงฆ์คือคนที่เสียหาย คนที่เอาเงินไปคือเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ อย่างล็อต 3 อดีตพระชั้นผู้ใหญ่ที่ตอนนี้อยู่ในเรือนจำ แต่คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐฯ จริงๆ มีใครติดคุกบ้าง มีเพียงอดีต ผอ.คนเดียวที่ถูกยึดทรัพย์ แล้วก็หนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่มีวิธีการติดตามใดๆ เหมือนกรณีพระชั้นผู้ใหญ่ที่หนีไปอยู่เยอรมนี”
ส่วนกรณีที่ให้สำนักพุทธศาสนาทุกจังหวัดไปขอข้อมูลจากวัดทั่วประเทศ ที่มีการวางระบบเกี่ยวกับด้านการเงินและบัญชีของวัด นั้น เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย บอกว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับการให้ทำบัญชี แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำ ควรให้สำนักพุทธศาสนาเขียนรูปแบบ แต่ให้มหาเถรสมาคมเป็นคนออกคำสั่ง และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักพุทธไปสอน แต่ไม่ใช่ในลักษณะออกคำสั่ง
ด้าน “รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ” อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท สาขาพุทธศาสนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เรื่องการทุจริตเงินทอนวัดที่เกิดขึ้น ถ้ามองสังคมไทยที่ผ่านมาให้ความเคารพในสถาบันสงฆ์อยู่เป็นอย่างสูง โดยปกติ “พระชั้นผู้ใหญ่” จะได้รับการคาดหวังจากสังคมว่าจะมีศีลธรรมสูงกว่าพระภิกษุทั่วไป พอมีคดีแบบนี้เชื่อว่าต้องกระทบต่อความรู้สึกของชาวพุทธเพราะแต่ละท่านเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่ในความเป็นจริงก็มี “พื้นที่สีเทา” อยู่ในวงการสงฆ์ โดยเฉพาะในวัดที่มีเงินบริจาคมากๆ จริงๆแล้วโครงสร้างของสังคมไทย ก็มีเรื่องของ “พื้นที่สีเทา” ในหลายวงการ เช่น ข้าราชการ ทหาร นักการเมือง ตำรวจ เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยจะเห็นเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการพระภิกษุ อย่างจริงจัง เช่นอย่างกรณีการเข้าจับกุมอดีตพระพุทธะอิสระ การมีภาพเผยแพร่ออกมาในขณะจับกุมก็ทำให้ภาพที่ออกมาดูไม่ค่อยดีนักในสายตาของประชาชน ทั้งที่ปกติแล้วตำรวจจะขอความร่วมมือกับงดการเผยแพร่ภาพขณะจับกุม ภาพที่ออกมาอาจทำให้คนในสังคมตั้งข้อคำถามว่ารัฐอาจจะทำเกินไปกับพระหรือไม่ หรือกรณีการใช้มาตรา 44 ล้อมวัดพระธรรมกายนานนับเดือน ก็กลายเป็นคำถามว่ารัฐกำลังทำอะไรกับศาสนาหรือเปล่า สิ่งที่ทำนั้นกลายเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่า เป็นการล้างบางเพื่อชำระศาสนาหรือมีวาระอื่นซ่อนอยู่
นอกจากนี้ “รศ.ดนัย” มองว่า ที่ผ่านมาเคยทำวิจัยเรื่องพระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว ปัญหาที่พบคือวัดต่างๆ ไม่ได้ส่งข้อมูลบัญชีรายรับรายจ่ายให้สำนักพุทธฯ และสำนักพุทธฯก็ไม่มีการตามไปตรวจสอบ มีการปล่อยปละละเลย รวมทั้งบางวัดก็เขียนไม่เป็น บางวัดก็ติดหนี้ร้านก่อสร้าง พอมีผ้าป่าก็ค่อยเอามาให้ และกรณีชื่อบัญชีเจ้าอาวาสกับบัญชีวัด เหล่านี้เป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้น บางรายอาจเป็นการทุจริต บางรายอาจเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การตรวจสอบนี้ทำให้ระบบการเงินเข้มแข็งขึ้น โปร่งใสขึ้น อาจทำให้พระภิกษุไม่ต้องคดีโดยที่ไม่รู้ตัว และสำนักพุทธฯเองก็ต้องสังคายนาตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะมีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้อง ทำให้พระเป็นผู้ต้องหา เรื่องนี้กระเทือนเยอะ เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครเข้าไปกล้าแตะ เพราะที่ผ่านมาคนก็ให้ความเคารพพระสงฆ์มาตลอด แต่ปัจจุบันข่าวก็มีมาตลอดทั้งสามเณรภาคใต้ถูกฆ่า ทำให้คนรู้สึกว่าต้องมีหน่วยงานตรวจสอบหรือไม่
ชมคลิปที่นี่...ไม่จบ! ล้างบางคณะสงฆ์
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้