ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นการใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด และการบันทึกเสียง ซึ่งนับว่าเป็นพยานหลักฐานหลักในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ และถูกพูดถึงหลายครั้งในเวทีถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรม ที่จัดขึ้นในการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างกฏหมาย ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
นายศุภกิจ แย้มประชา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฏีกา พูดถึงประเด็นการปฏิรูป 10 ประเด็น นอกจากเรื่องการกำหนดระยะเวลาดำเนินการในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า การใช้พยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด การบันทึกภาพและเสียงตลอดกระบวนการยุติธรรม เป็นอีกแนวทางที่จะใช้ในอนาคต โดยหยิบยกประเด็นการเสียชีวิตของ บิดาที่กระโดดตึกศาลอาญาเมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งหากคดีนี้มีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ก็อาจทำให้ไม่มีข้อกังขากับครอบครัวผู้เสียชีวิตและสังคม
นอกจากนี้ยังมีการยกอย่างเช่นในต่างประเทศ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในที่สาธารณะทุกที่ ทำให้การก่อเหตุอาชญากรรมมีน้อยมาก และภาพจากกล้องวงจรปิดถูกใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล จึงเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยได้เกือบทุกครั้ง