วันนี้ (4 ส.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. นำเฮลิคอปเตอร์ ขึ้นบินสำรวจสถานการณืน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พร้อมสำรวจเส้นทางการระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี ก่อนลงพื้นที่ติดตามผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำที่สำคัญด้วย นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า รัฐบาลสั่งให้ติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำเพชรบุรี และประเมินแผนปฏิบัติการรับมือสภาพอากาศและสถานการณ์ฝนช่วงวันที่ 4 ส.ค. – 8 ส.ค. 61 ที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบประเทศภาคตะวันตก และ ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแนวปะทะของฝน โดยจะตกมากในภาคตะวันตก และมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 4 เขื่อนมากขึ้น คือ ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน และปราณบุรี ดังนั้นจึงต้องมีการหารือและเตรียมการในระดับพื้นที่เพื่อซักซ้อมแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี การระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และแผนรองรับผลกระทบจากการระบายน้ำไปยังพื้นที่ท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด
โดยวันนี้ เขื่อนแก่งกระจาน เป็นจุดที่น่ากังวลที่สุด เพราะมีปริมาณน้ำคิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อนแล้ว มีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันนี้ 24.8 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนน้ำที่ระบายระบายออก ทำได้เพียง 9.30 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คงเหลือพื้นที่รับน้ำอีกประมาณ 40 เซนติเมตรเท่านั้น จึงคาดว่าภายในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.61) น้ำจะไหลล้นระดับอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน หรือ สปิลเวย์ แต่ยืนยันจะไม่กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน และเมื่อน้ำไหลล้น สปิลเวย์ ซึ่งมีข้อมูลว่า อาจจะมีน้ำผ่านเขื่อนแก่งกระจานประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรวินาที ลงไปที่ เขื่อนเพชรบุรี ซึ่งป็นเขื่อนทดน้ำ ก่อนผ่านไปสู่ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
โดยจากข้อมูลระบบชลประทาน ระบุว่า สามารถตัดน้ำก่อนผ่านเขื่อนเพชรบุรี 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หมายความว่า จะมีน้ำผ่าน เขื่อนเพชรบุรี หลังล้นสปิลเวย์ที่เขื่อนแข่งกระจาน มากกว่า 200 - 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ แม่น้ำเพชรบุรี มีศักยภาพ รับน้ำได้ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 6 ส.ค. นี้ คาดว่า น้ำจะท่วมบางพื้นที่ของเมืองเพชรบุรี และพื้นที่อำเภออื่น ๆ