วันนี้(26 ส.ค.61) เวทีเสวนาจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยตัวเลขคนไทยที่ยังไร้สิทธิหลักประกันสุขภาพ กว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้าน และผู้ที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียน ปัจจัยทางสังคมที่หรืออุปสรรคในการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม เป็นเป้าหมายที่ สปสช. และ สสส. พยายามแก้ไขให้คนไทยที่ยังไร้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ได้มีสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม
น.ส.ยุวดี แก้วตา อายุ 47 ปี คนไทยที่ไร้สิทธิสถานะทางทะเบียน บอกว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เคยเข้าไปขอรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐชื่อดัง 2 แห่ง แต่ถูกปฏิเสธ เพราะไม่มีบัตรประชาชน และพ่อกับแม่ที่มีสถานะทางทะเบียน ที่พลัดพรากกัน ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงหมดหนทางที่จะมีบัตรประชาชน แต่ตอนนี้เธอต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ เป็นอันดับแรก
ด้าน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยอมรับว่า คนไทยที่ไร้สิทธิสถานะทางทะเบียน ยังเข้าใจว่าการไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ เพราะถึงแม้จะเป็นคนที่ไร้สถานะทางทะเบียน แต่ก็มีสิทธิการรักษาพยาบาล โดยขอคำปรึกษาได้จาก สปสช. หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทุกจังหวัด
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชาชนกลุ่มเฉพาะ สสส. ระบุว่า ต้องการผลักดันให้คนไทยกว่า 1 แสนคนที่ไร้สถานะทางทะเบียน ได้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนในสังคม จากการสำรวจพบว่าบุคลไร้สิทธิหลังประกันสุขภาพ มีสาเหตุจาก พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก จนไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ ทำให้เข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการสังคม หลังจากนี้จะผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้คนเหล่านี้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้