“ไข้เลือดออก” รู้ทัน ป้องกัน รักษาได้

โดย PPTV Online

เผยแพร่

อีกหนึ่งโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน ที่น่ากลัวและส่งผลต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิต นั่นก็คือ โรคไข้เลือดออก โดยมี ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค

โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัส ชื่อ Dengue Virus (เด็งกี) มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Den-1, Den-2, Den-3, Den-4 และติดต่อมาสู่คนโดยยุงที่มีเชื้อเหล่านี้เป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักจะกัดเวลากลางวัน

สำหรับ อาการของโรคไข้เลือดออก หลังจากโดนยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด จะแสดงอาการภายใน 5-6 วัน และอาการ จะคงอยู่เป็นเวลาตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์ เช่น มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศรีษะ หรือ ปวดกระบอกตา ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ อย่างรุนแรง  คลื่นไส้ อาเจียน  มีผื่นแดงขึ้นที่แขนและขา หลังจากมีไข้ได้ 3-4 วัน มีเลือดออกทั้งภายนอกและภายในร่างกายและถ้าสูญเสียเลือดในปริมาณมากอาจนำไปสู่ภาวะช็อกได้

ในส่วนของการดูแลรักษานั้น  ให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว ในระยะไข้สูง ให้เช็ดตัวเพื่อลดไข้และป้องกันอาการชักเนื่องจากไข้สูง  ดื่มน้ำมากๆ  เพราะส่วนใหญ่เมื่อมีมีไข้สูง ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารและอาเจียนทำให้ขาดน้ำได้ ขณะที่ญาติ ต้องเฝ้าดูแลอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการช็อกได้ทันเวลา

ปัจจุบัน การรักษาโรคไข้เลือดออก ยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะตัวสำหรับกำจัดเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำมากที่สุด ในขั้นแรกเมื่อมีไข้สูงจะให้ยาพาราเซตามอล ห้ามให้ใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกรุนแรงขึ้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้และให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้  รวมถึงสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อกได้ ซึ่งภาวะช็อกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ไข้ลด  หากเกิดอาการเช่นนี้ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ทั้งนี้ การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด นั้นสามารถทำได้ เช่น นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด จุดยากันยุงหรือใช้ยาทาหรือยาฉีดกันยุง  ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่อับลมหรือเป็นมุมมืด มีแสงสว่างน้อย  หมั่นอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเพราะเหงื่อจะดึงดูดให้ยุงกัดมากขึ้น ที่สำคัญ ต้องควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลีกเลี่ยงบริเวณที่มียุงชุม บริเวณที่มีน้ำขัง ภาชนะที่มีน้ำต้องเปลี่ยนทุกสัปดาห์  

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกอยู่ที่ประมาณ 58,000 ราย คิดเป็นอัตราป่วยอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร   ส่วนยอดเสียชีวิตพบกว่า 60 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิตที่ 0.14 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรเป็นคือ 0.11-0.12 ต่อแสนประชากร ที่น่าสนใจคือเกินครึ่งหนึ่งของยอดผู้เสียชีวิตเป็นวัยผู้ใหญ่ จากเดิมที่จำนวนคนเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์จะเป็นกลุ่มเด็ก นับเป็นลักษณะใหม่ของการระบาดของไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ ข้อมูลดีดี จาก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลในเครือ BDMS โรงพยาบาลชั้นนำในประเทศ  “เรื่องสุขภาพ เราเชี่ยวชาญ"

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ