ละครไทยหลายเรื่องมักมีบทที่แม่สามีกับลูกสะใภ้ โดยเฉพาะแม่ของพระเอกกับลูกสะใภ้นางเอก ไม่ชอบกัน เกลียดกัน ไม่ยอมรับกันและกัน ซึ่งปัญหานี้ล้วนสะท้อนความเป็นจริงที่อาจจะกำลังอาจเกิดกับหลายครอบครัว เมื่อผู้หญิง 2 คน ต่างสถานะ อีกคนแม่ อีกคนภรรยา “รักคนคนเดียวกัน” และมองว่าความรักของแต่ละคนดีที่สุด ในฐานะผู้เป็นแม่ ย่อมคิดว่า “ฉันเลี้ยงของฉันมา ฉันคลอดออกมา ฉันเข้าใจและรักเขามากที่สุด” ลูกสะใภ้ยังรักและดูแลลูกชายของตนเองได้ไม่ดีพอ โดยลืมไปว่า “แม่ดูแลลูกในฐานะลูก แต่ภรรยาดูแลในฐานะสามี” ขณะที่ภรรยามองความรักของเธอคือความรักที่บริสุทธ์เพราะเลือกเขามาเป็นคู่ชีวิต จะต้องดูแลกันและกันตลอดไป
ลูก คือ ผู้กำเนิดมาจากสายเลือดโดยตรงจาก พ่อ แม่
สามี คือ ชายที่เป็นคู่ครองของผู้หญิง ซึ่งทั้งสองฝ่ายล้วนมาจากต่างครอบครัว แต่ตกลงใช้ชีวิตที่เหลือร่วมกันเป็น “สามี ภรรยา” โดยพัฒนาสถานะจากแฟน
และเมื่อมาถึงจุดเป็นสามี ภรรยา ปัญหานี้ก็เป็นเหมือนระเบิดเวลาลูกย่อมๆ ที่อาจทำให้เกิดการหย่าร้างขึ้นได้โดยเฉพาะถ้าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายย้ายไปอยู่ในครอบครัวของสามี
จึงมีการวิเคราะห์กันว่าปัญหานี้มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง โดย Madeleine A Fugère นักวิชาการปริญญาเอก ด้านจิตวิทยาและความสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา
1.ภรรยาของลูกชายไม่ใช่คนที่แม่สามีเลือกไว้ให้
โดยเธอระบุว่า มนุษย์ชายหญิงจะถูกใจกันจากรูปลักษณ์ภายนอก นิสัยใจคอของอีกฝ่าย ความเข้าอกเข้าใจกัน ขณะที่แม่ของสามีจะมองไปที่ภูมิหลังของผู้ที่จะมาเป็นลูกสะใภ้ พื้นฐานครอบครัว การศึกษา สถานะของครอบครัว หน้าที่การงาน ซึ่งเมื่อลูกสะใภ้ไม่ได้ตรงกับใจก็อาจนำไปสู่ความไม่ลงรอยระหว่างกันได้ ซึ่งหลายครั้งมักแสดงออกมาทั้งในลักษณะเหน็บแนม เปรียบเทียบ เป็นต้น
2.ลูกสะใภ้มีเสน่ห์มากเกินไป
แม่สามีบางคนมองว่าการที่ลูกสะใภ้ของตนสวย มีเสน่ห์ ไปจนถึงมีความเป็นกันเอง คุยเก่ง เข้าถึงง่าย กับคนอื่นๆ เกินไปอาจทำให้แม่สามีกลัวว่าจะมีคนอื่นๆ เข้ามาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าลูกชายของตนเอง
3.แม่สามีคิดว่าลูกสะใภ้มาแย่งเวลาและความสนใจจากลูกชาย
แม่สามีบางคนอาจคิดว่าลูกชายเอาใจใส่น้อยลงซึ่งงานวิจัยบอกว่าผู้หญิงที่อายุมากมีแนวโน้มที่จะมีประสบการณ์ในการถูกละเลยเพราะมีความสัมพันธ์แย่กับลูกสะใภ้ ซึ่งแม่สามีจะกังวลว่าเธอถูกละเลยจากลูกชายเพราะไปสนใจภรรยามากกว่า
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เรื่อง ปัญหาความสัมพันธ์แม่สามี-ลูกสะใภ้ในสังคมไทยตามการรับรู้ของลูกสะใภ้ โดย หญิง บัณฑิตตระกูล นิสิตหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแบ่งกลุ่มลูกสะใภ้ออกเป็น 2 กลุ่มคือ หลุ่มที่อาศัยอยู่กับแม่สามี และ กลุ่มที่แยกครอบครัวออกมา พบว่า สาเหตุใหญ่ 3 อันดับแรกที่ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแม่สามีกับลูกสะใภ้ในสังคมไทย คือ 1.แม่สามีกับลูกสะใภ้ต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน 2.แม่สามีกับลูกสะใภ้มีพื้นเพครอบครัวที่แตกต่างกัน และ 3. แม่สามีก้าวก่ายชีวิต ครอบครัวของลูกสะใภ้
ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งการสร้างความเครียดให้กับ "คนกลาง" คือสามี เพราะทำให้สามีวางตัวไม่ถูกเมื่ออยู่ต่หน้าแม่และภรรยา ในขณะเดียวกันทำให้เกิดความไม่ราบรื่นในชีวิตสมรสของลูกสะใภ้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าในประเทศเกาหลี ผู้หญิงที่สมรสแล้วและอาศัยอยู่ในครอบครัวของสามีตลอดช่วงที่สมรสอยู่ “มีอัตราการหย่าร้างสูงกว่าผู้หญิงที่สมรสแล้วอาศัยอยู่ในครอบครัวของสามีเป็นครั้งคราว 90%”
แล้ว “แม่สามี-ลูกสะใภ้” มีโอกาสหย่าศึก ได้หรือไม่
เว็บไซต์ Scarymommy แนะนำไว้สำหรับฝ่ายชายซึ่งเป็นคนกลางด้วยกันทั้งหมด 9 วิธี
1.พูดตรงๆ เปิดอกคุยกัน บอกแม่ของคุณว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอที่จะปรับตัวได้เร็ว เมื่อเข้ามาอยู่ในครอบครัวใหม่ ขณะที่บางครั้งก็ให้ฝ่ายภรรยาเป็นคนเริ่มพูดคุย ถามสารทุกข์สุขดิบแม่ของคุณก่อน
2.หากิจกรรมทำร่วมกันระหว่างแม่ของคุณกับภรรยา
3.จัดสรรเวลาและพื้นที่ให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างยุติธรรม
4.ทำอาหารร่วมกันในมื้อพิเศษ โดยคุณอาจจะหาเมนูใหม่ๆ มาให้ทั้งสองคนได้ลองทำร่วมกัน
5.รักษาระยะห่างหรือให้พื้นที่กับภรรยาของคุณได้มีเวลาเป็นของตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่เธอชอบไปจนถึงให้เวลาเพื่อรับฟังปัญหาของเธอ
6.แยกตัวออกมาอยู่กับภรรยาของคุณเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างกัน
7.อย่าให้คำพูดของแม่คุณมาเป็นประเด็นขัดแย้งในชีวิตคู่
8.พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้กับครอบครัวเพื่อนคนอื่นๆ ที่คุณไว้ใจ
9.เอาชนะใจแม่สามีด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์
ท้ายที่สุดแล้วหากครอบครัวใดกำลังเจอกับปัญหานี้สิ่งสำคัญคือ "คุณทั้งคู่ต้องจับมือกันให้แน่นที่สุด" เปิดใจคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกันและขอให้การหย่าร้างเป็นคำตอบสุดท้ายจริงๆ ที่จะต้องเลือก
ที่มา : www.psychologytoday.com
www.scarymommy.com
งานวิจัยปัญหาความสัมพันธ์แม่สามี-ลูกสะใภ้ในสังคมไทยตามการรับรู้ของลูกสะใภ้ โดย หญิง บัณฑิตตระกูล นิสิตหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ : อินเทอร์เน็ต