ลำเลียง “กะเหรี่ยง” บาดเจ็บรักษาตัวฝั่งไทย
สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ที่บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังไม่มีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการเตรียมการว่าจะเปิดในวันที่ 1 เมษายน แต่ในพื้นที่วันนี้ ถือว่ามีข่าวดีเป็นวันแรก เพราะ ของบริจาคที่ชาวไทยรวบรวมไว้หลายวัน ถูกลำเลียงส่งให้ชาวกะเหรี่ยงได้แล้ว
หลังพยายามหาแนวทางส่งของให้ชาวกะเหรี่ยงมาหลายวัน ล่าสุดวันนี้สามารถส่งของข้ามไปอย่างเป็นทางการได้แล้ว คนที่นำของมาบริจาคพวกเขาบอกนะครับว่าตื้นตันใจ และดีใจมากที่เห็นของบริจาคของตนเองถูกลำเลียงไปให้ชาวกะเหรี่ยงตามที่ตั้งใจไว้
นี่เป็นภาพบรรยากาศที่ชาวบ้านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ บ้านแม่สามแลบ บ้านท่าตาฝั่ง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ยกสิ่งของบริจาคขึ้นเรือหางยาว เพื่อนำไปให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากภัยการสู้รบ
ตลอดเกือบหนึ่งสัปดาห์ที่ทีมข่าวพีพีทีวีเราได้เกาะติดอยู่จุดนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการส่งของข้ามฝั่งไปอย่างเป็นทางการ สิ่งของที่ถูกส่งไป ส่วนใหญ่ เป็นน้ำ ข้าวสาร อาหารแห้ง และผ้าอนามัย
สำหรับวิธีการลำเลียงส่งไป คือ คนไทยจะนำเรือมาเทียบที่ ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ จากนั้นจะแล่นขึ้นไปประมาณ 20 กิโลเมตร และเทียบท่าที่ศูนย์อพยพอิตูท่า และหัวหน้าศูนย์อพยพชาวกะเหรี่ยงจะมารับและกระจายต่อ ให้กับชาวกะเหรี่ยง ให้กับผู้ที่หลบภัยริมแม่น้ำสาละวิน กว่า 7,000 คน
ทีมข่าวได้พูดคุยกับนาย ทวีวิทย์ ดิบือแฮ กลุ่มกะเหรี่ยงไทย KTG เปิดเผยถึงเหตุผลที่สามารถขนของบริจาคไปได้ ระบุว่าได้ประสานกับทางทหารพรานที่ 3606 ที่อยู่บริเวณจุดตรวจ ทหารพรานระบุว่า ผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้นำสิ่งของไปบริจาคได้แล้ว แต่ว่าจากนี้หากมีผู้มาบริจาค ต้องประสานกับทางกาชาดอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่ามีวิธีดำเนินการอย่างไรบ้าง
เปิดภาพ เด็กกะเหรี่ยง หนีสงครามนอนกลางป่า
ทีมข่าวพูดคุยกับประชาชนชาวกทม ที่นำของมาบริจาค พวกเขาบอกว่า รู้สึกดีใจมากเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ของบริจาคที่ภาคประชาชนจากหลายหลายเครือข่ายนำมาไว้ให้จะถึงมือชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากภัยการสู้รบ
ส่วนภาพรวมการดำเนินการของภาครัฐ วันนี้ที่อำเภอแม่สะเรียงมีการประชุมเกี่ยวกับกระบวนการรับของบริจาคและส่งต่อให้ชาวกะเหรี่ยง มีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่า สถานการณ์ไม่มีความรุนแรง จึงเตรียมวางแผนร่วมกับฝ่ายปกครอง โดยหน่วยงานกาชาดในพื้นที่ รวบรวมสิ่งของที่มีผู้มาบริจาคให้กับทาง ผู้หนีภัยความไม่สงบ จะถูกส่งผ่านมาทางกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง และหน่วยงานความมั่นคงเป็นผู้ดำเนินการต่อ ยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการ องค์กรใดๆ ดำเนินการเอง เนื่องจากยังต้องเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน
อนุญาตส่งของบริจาคให้ชาวกะเหรี่ยง