ย้อนเหตุ "มหาอุทกภัยปี 54" ทำจมบาดาล 65 จังหวัด ศก. เสียหาย ถึง 1.44 ล้านล้านบาท

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ปี 2554 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยเจออุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุด ถึง 65 จังหวัด ซึ่งสร้าความเสียหาย เป็นจำนวนมากและทำให้หลายคนหวาดกลัวทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม

เมื่อพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ "มหาอุทกภัยปี 2554"  เรียกได้ว่าเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ เพราะประเทศไทยเจอเหตุการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี และที่หนักที่สุดคือช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือน พฤศจิกายน ที่มีพื้นที่ประสบอุทกภัย และถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด และหนึ่งในนั้น คือพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งถูกน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปีเลยก็ว่าได้ 

7 เหตุผล ปัจจัยสำคัญ เปรียบเทียบน้ำท่วมปีนี้ โอกาสซ้ำรอย "น้ำท่วม 54" หรือไม่?

เรียนรู้เรื่อง "อุทกภัย" ภัยธรรมชาติ ที่ความรุนแรงขึ้นอยู่กับพื้นที่

จากข้อมูลของ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติที่รวบรวมไว้พบว่า เหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 นั้น มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ราษฎรเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน  พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย 231,919 ไร่ ปศุสัตว์ 13.41 ล้านตัว

โดยเหตุผลที่ทำให้ไทยเกิดน้ำท่วมในปี 2554 นั้นมีด้วยกัน 3 ด้าน คือ 
1. ปัจจัยทางธรรมชาติ 
    ซึ่งปีนั้น ฝนที่มาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% เนื่องมาจาก อีกทั้งไทยยังได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม จากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่

    1.1 พายุโซนร้อน “ไหหม่า” ที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนบน ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงค่ำของวันที่ 24 มิ.ย. 54 จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวพร้อมกับอ่อนกำลังลงอีกเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนเข้าภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน และสลายตัวไปในพื้นที่ของภาคเหนือเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 54 อิทธิพลของพายุลูกนี้ทำให้มีฝนตกหนาแน่นเป็นบริเวณกว้างในภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และตากมีรายงานฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องในช่วงวันที่ 25 - 26 มิ.ย. 54 ก่อให้เกิดน้ำท่วม ฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

    1.2 พายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN) ที่มีแหล่งกำเนิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลัง แรงในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 และได้ทวีกำลังแรงขึ้นตามลำดับจนกระทั่งเป็น พายุโซนร้อนแล้วเคลื่อนผ่านเกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง จากนั้นเคลื่อนตัวทางทิศ ตะวันตกค่อนไปทางเหนือผ่านเกาะไหหลำ และอ่าว ตังเกี๋ยขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 จากนั้นเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวพร้อมกับอ่อน กำลังเป็นพายุดีเปรสชันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่านในวันเดียวกัน แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุม ภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงใหม่และแม่ฮ่อนสอนในเวลาต่อมา

    1.3 พายุโซนร้อน “ไห่ถาง”  (HAITANG) มีแหล่งกำเนิดบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 พายุนี้ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม แล้วอ่อนกาลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวแล้วอ่อนกาลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ากาลังแรงเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554

    1.4 พายุใต้ฝุ่น “เนสาด”  วันที่ 28 กันยายน 2554 พายุไต้ฝุ่น“เนสาด” (NESAT) ได้ก่อตัวขึ้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กม./ชม. เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 22 กม./ชม. ต่อมาในวันที่ 29 กันยายน 2554 พายุนี้อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.1 องศาตะวันออก หรือห่างจากเกาะไหหลำ ด้านตะวันออกประมาณ 100 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กม./ชม. และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 25 กม./ชม. ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2554 พายุลูกนี้อยู่บริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลาง อยู่ห่างประมาณ 120 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 พายุได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ อย่างช้าๆ หลังจากนั้นได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในระยะต่อมา พายุลูกนี้ส่งผลทำให้ด้านตะวันออกของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม

    1.5 พายุโซนร้อน “นาลแก” วันที่ 3 ตุลาคม 2554 พายุโซนร้อน “นาลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 450 กิโลเมตร ทางตะวันออก ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2554 พายุลูกนี้ยังคงอยู่ที่บริเวณทะเลจีนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ ละติจูด 18.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.1 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 พายุดีเปรสชัน “นาลแก” เคลื่อนตัวอยู่บริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ หลังจากนั้นได้เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในเวลาต่อมา

ประจวบเหมาะกับ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีข้อจำกัดในการระบายเนื่องจากสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน

รวมถึงน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ช่วงปลายเดือนตุลาคม กลางเดือนพฤศจิกายน และปลายเดือนพฤศจิกายน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า 

2. ปัจจัยทางกายภาพ 

    2.1 พื้นที่ต้นน้ำ มีป่าไม้รวมทั้งคุณภาพป่าไม้ลดลง

    2.2 โครงสร้างน้ำไม่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฝนในปัจจุบัน

    2.3 ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลง จากการทรุดตัวของพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป

    2.4 ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์

    2.5 สะพานหลายแห่งเป็นปัญหาต่อการระบาย จากขนาดตอม่อใหญ่ ช่องสะพานขวางทางน้ำ

    2.6 สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว

3. ปัจจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ 
    3.1 พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่างขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุหน่วงน้ำลดลง เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ

    3.2 การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพสูงสุด

    3.3 ปริมาณน้ำระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่ได้ผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา

    3.4 คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้ และในทางกลับกัน เรือกสวนไร่นาในทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์

    3.5 ปัญหาการบริหารการระบายผ่านแนวรอยต่อที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ

    3.6 ประชาชนและองค์กรส่วนย่อย สร้างพนังและคันของตัวเอง ทำให้การระบายในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้

 

จากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ มวลน้ำจากลุ่มน้ำยมที่ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี 2554 มีมากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อไหลมาแล้ว แต่ประตูระบายน้ำพลเทพ และประตูระบายน้ำบรมธาตุ ไม่ได้เปิดรับน้ำเพื่อผันน้ำเข้าสู่ทุ่งตะวันตก แม้จะมีการเปิดรับน้ำมากขึ้นในภายหลัง แต่มีการควบคุมน้ำให้อยู่เฉพาะในลำน้ำ ไม่มีการปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพื่อให้เป็นแก้มลิงชะลอน้ำ

การปล่อยให้ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี พังทลายโดยไม่มีการรีบซ่อมแซม ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่จังหวัดลพบุรีมากเกินไป และปริมาณน้ำทั้งหมดได้ไหลกลับมายังอำเภอพระนครศรีอยุธยาทางแม่น้ำลพบุรี

ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ระบายจากเขื่อนป่าสักที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่มีการผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะอำเภอพระนครศรีอยุธยา รับปริมาณน้ำมากเกินไปทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี

ปริมาณน้ำที่ไหลมารวมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามากเกินไป ทำให้น้ำจำนวนมากไหลย้อนข้ามประตูประบายน้ำคลองข้าวเม่า เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และไหลไปรวมกันกับปริมาณน้ำที่ล้นมาจากแม่น้ำป่าสัก เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร สวนอุตสาหกรรมบางกระดี และไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครทางทิศเหนือ

คลองระพีพัฒน์ ไม่สามารถผันน้ำเข้าสู่ทุ่งตะวันออกได้ ในทางกลับกัน เรือกสวนไร่นาที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ทำให้คลองระพีพัฒน์รับน้ำมากเกินไป พื้นที่รองรับน้ำหลากของกรุงเทพมหานครเกิดการเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น หมู่บ้านจัดสรรและพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำเข้าสู่ระบบสถานีสูบน้ำริมชายทะเลได้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่อยู่ทางด้านเหนือกรุงเทพมหานคร บริเวณอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี แขตสายไหมและเขตคลองสามวา ไม่สามารถระบายลงสู่ระบบคลองไปยังสถานีสูบชายทะเลได้

มีการปลูกสิ่งก่อสร้าง รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง การขาดการดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่คลองระบายน้ำสำคัญอย่างเช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว มีการรุกล้ำลำน้ำจนคลองเหลือขนาดเพียงครึ่งเดียวจากเดิม

สะพานหลายแห่ง กลายเป็นปัญหาในการระบายน้ำ ทั้งตอหม้อสะพานที่มีขนาดใหญ่เกินไป ช่องสะพานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการไหลของน้ำ ที่สำคัญสะพานในแหล่งชุมชนเกือบทุกแห่ง ช่องด้านข้างทั้ง 2 ของสะพานจะเกิดการรุกล้ำ จนมีเพียงช่องกลางสะพานเพียงช่องเดียวที่สามารถระบายน้ำได้

ประชาชน และองค์กรในส่วนย่อย มีการสร้างพนังและคันกั้นน้ำของตัวเอง ทำให้การระบายน้ำในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้ประสิทธิภาพ
 

และในเหตุมหาอุทกภัยในปี 2554 ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท จนถูกประเมินว่าเป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบเพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 3.6 ล้านคน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างน้อย 5,087,352 ไร่ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านบาท ครั้งนั้นประชาชนคนไทยจำนวนกว่า 5 ล้านคน กลายเป็นผู้อพยพบนบ้านเกิดตัวเอง คนงานเกือบ 650,000 คน ตกงาน
ประวัติศาสตร์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง

ความเสียหายที่เกิดจากมหาอุทกภัยปี 54 ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม คือ มวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ปทุมธานี ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินความเสียหายไว้ที่ 2.4 แสนล้านบาท โดยนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ในจังหวัดปทุมธานี ได้รับความเสียหายมากที่สุด ถึง 86.5 พันล้านบาท รองลงมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 74.6 ล้านบาท โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะ ที่มีบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นอย่าง บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ด้วย ในครั้งนี้ฮอนด้ามีถูกน้ำทะลักเข้าสู่ โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัท 2 แห่ง ทำให้ยอดผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นลดลงถึง 4 แสนคัน 

น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากบริษัทฮอนด้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ บริษัท Western Digital ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและนวนคร มีสัดส่วนการผลิตถึงร้อยละ 50 ของการผลิต Hard Disk Drive ทั้งหมดในไทย ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ส่งผลกระทบไปยังเครือข่ายการผลิตของโลก (Global Production Network)ทำให้การผลิตในประเทศอื่นๆ ขาดแคลนชิ้นส่วนจนราคา Hard Disk Drive ปรับสูงขึ้นร้อยละ 20-30 


สนามบินดอนเมืองจมใต้น้ำ
เดือนตุลาคมปี 2554 มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้แทบทุกตารางนิ้วจมอยู่ใต้น้ำ เครื่องบินที่ขนย้ายไม่ทัน จอดแช่น้ำ รันเวย์ ระบบไฟสนามบินเสียหายเกือบทั้งหมด เพราะระดับน้ำบางจุดสูงถึง 4 เมตร สนามบินต้องปิดให้บริการทั้งหมด กว่าน้ำจะลดและฟื้นฟูสนามบินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติใช้เวลานานหลายเดือน โดยครม.อนุมัติให้ใช้งบประมาณซ่อมแซมเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท


ย่านเศรษฐกิจใจกลางลาดพร้าวศูนย์การค้าปิด
จากสนามบินดอนเมือง มวลน้ำจากถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน น้ำทะลักท่วมห้าแยกลาดพร้าว ทำให้การสัญจรทำได้เพียงรถยกสูง รถขนาดใหญ่ หรือใช้เรือ โดยสาร แน่นอนว่า ทำให้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่างเซ็นทรัลลาดพร้าวที่กลับมาเปิดบริการหลังปิดรีโนเวตได้เพียงสองเดือนต้องประกาศปิดให้บริการ โดยไม่มีกำหนดไป เช่นเดียวกับ ศูนย์การค้ายูเนียนมอลล์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามก็ต้องปิดให้บริการไปด้วย 

 

 

 

อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย ,www.bangkokbiznews.com,คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ