เทรนด์ “คำค้นหา” บน “Google” เปลี่ยนไป ปัจจัยหลักคือ “โควิด-19”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจาะสาเหตุเทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ตและกูเกิลของคนไทยเปลี่ยนไปในปี 2564 เหตุโควิด-19 ทำพฤติกรรมและความสนใจเปลี่ยน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตหลายอย่างของคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยเองด้วย โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่หันไปพึ่งพาโลกออนไลน์กันมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ตหลายอย่างของคนไทยจะเปลี่ยนไป

กูเกิลประเทศไทย (Google Thailand) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำรายงานเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

รมว.คลัง การันตีพร้อมแจกของขวัญปีใหม่

ถ่ายทอดสด Miss Universe 2021 รอบพรีลิมฯ - รอบชุดประจำชาติ คืนนี้! “แอนชิลี” เตรียมโชว์พลังชุด “นางค...

อัปเดต คนละครึ่ง เฟส 3 – ยิ่งใช้ยิ่งได้ เตือน! รีบใช้จ่ายก่อนหมดเขต 31 ธ.ค. 64

โดยประเทศไทยมีคนที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นประมาณ 9 ล้านคนจากปี 2563 ซึ่ง 67% ของ 9 ล้านคนนี้มาจากจังหวัดที่อยู่นอกเมืองหลัก

คุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค Google ประเทศไทย กล่าวว่า “เราเห็นเทรนด์ว่า คนเริ่มใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ใช่เฉพาะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือในเมืองหลัก แต่ว่ากระจายออกไปทั่วทั้งประเทศ”

เทรนด์ “คำค้นหา” ยอดนิยมของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างไร?

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา กูเกิลประเทศไทยยังได้เปิดเผยคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2564 หรือ Google Trends 2021 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในปี 2564 นี้

“ในประเทศไทยเรามีอยู่ 9 หมวดหมู่ หมวดหมู่แรกจะเป็นคำค้นหาโดยรวมประจำปี ซึ่งรวมทุกหมวดหมู่ไว้ด้วยกัน และเราก็จะมีอีก 8 หมวดหมู่ย่อย คือ ข่าว, สถานที่ท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, บุคคล, วิธี (How To) แล้วก็จะมีหมวดหมู่เกี่ยวกับการบริจาค หมวดหมู่ต้นไม้ แล้วก็คริปโตเคอร์เรนซี-บล็อกเชน ซึ่ง 3 อันหลังนี้เป็นหมวดหมู่ใหม่ที่เราเพิ่งมีในปีนี้” คุณศารณีย์บอก

หากมองที่คำค้นหาโดยรวม จะพบว่า 10 อันดับแรกคำค้นหายอดนิยมของคนไทย ได้แก่

  1. เราชนะ
  2. คนละครึ่ง
  3. Popcat
  4. วัคซีนโควิด
  5. SGS
  6. ม.33 เรารักกัน
  7. โควิดวันนี้
  8. อาการโควิด
  9. กระเช้าสีดา
  10. ลอยกระทงออนไลน์

คุณศารณีย์บอกว่า ตั้งแต่ปีที่แล้ว คำค้นหาที่ก้าวกระโดดมากที่สุดก็คือคำที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาจากภาครัฐ ปีนี้ก็เช่นกัน 3 คำที่ติดท็อปก็จะเป็น เราชนะ คนละครึ่ง และ ม.33 เรารักกัน

และอีก 3 คำที่เจอใน Top 10 ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 คือ วัคซีนโควิด โควิดวันนี้ อาการโควิด เป็นเรื่องทั่วไปที่คนไทยสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

หมวดหมู่ “การเยียวยา” มาแรงเพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น

คุณศารณีย์เล่าว่า เทรนด์ที่เปลี่ยนไปมากที่สุด ซึ่งมีลักษณะเป็นการเปลี่ยน “ธีม” ของทั้งโลกเลยคือ คำว่า “Healing” หรือ “การเยียวยา”

เธออธิบายว่า “การเยียวยามันมีหลายแง่มุม หนึ่งคือเรื่องเงินเยียวยาสนับสนุนช่วยเหลือค่าครองชีพจากรัฐบาล และมันมีการเยียวยาตัวเองเพิ่มขึ้น จะมีคนหาพวกวิธีทำสิ่งต่าง ๆ ที่บ้าน เช่น วิธีทำน้ำขิง มีเรื่องการเยียวยาด้วยต้นไม้ คนอยากอยู่ใกล้ธรรมชาติมากขึ้น ... มีการพูดถึงการเยียวยาผู้อื่น คือค้นหาเกี่ยวกับเรื่องของการบริจาค แล้วก็ความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นในมุมของการลงทุน อย่างเช่นคริปโตเคอร์เรนซี บล็อกเชน”

ซึ่งเทรนด์นี้โดยภาพรวมเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้นและงดการเดินทางในช่วงโควิด-19 จึงเริ่มมีการค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ ค้นหาเงินเยียวยาเพราะบางคนมีรายได้ลดลงเพราะโควิด-19 ค้นหาวิธีทำอาหารเครื่องดื่ม ทั้งเพื่อฝึกทักษะ และเพื่อบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19

ส่วนเรื่องของต้นไม้ เราจะพบว่าในปี 2564 นี้ ต้นไม้กลายเป็นหนึ่งในสินค้ามาแรง โดยเฉพาะกลุ่มไม้ด่าง และกระแสจากดารานักแสดงที่ปลูกต้นไม้กันเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดความสนใจตาม โดยเฉพาะเรื่องของไม้ด่างที่ต้องเรียกว่าเป็นปีทองของการค้าขายเลยทีเดียว

ในส่วนของการลงทุนเอง เมื่อคนอยู่แต่บ้านมากขึ้น ก็มีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุน รวมถึงเพื่อหารายได้เสริมในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา

ดังนั้น ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว โควิด-19 จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสนใจของคนไปจนถึงเทรนด์การใช้อินเทอร์เน็ตและกูเกิลในการหาข้อมูล มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กูเกิลต้องพัฒนาตัวเองตามวิธีการค้นหาข้อมูลที่เปลี่ยนไป

โควิด-19 ไม่ได้เปลี่ยนเพียงหัวข้อการค้นหาเท่านั้น แม้แต่วิธีการหรือคีย์เวิร์ดที่ใช้ ทางกูเกิลประเทศไทยก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

คุณศารณีย์บอกว่า “สมัยก่อนหน้านี้คนอาจจะเสิร์ชแค่คำสั้น ๆ คือ โควิด สมัยนี้มีคำที่เฉพาะเจาะจงหรือเติมก้นเติมท้ายมากขึ้น ... อีกอย่างหนึ่งที่เราเห็นก็คือ ทุก ๆ วัน เราจะเจอคำค้นหา 15% ที่เป็นคำใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คิดว่าด้วยความที่โลกเราตอนนี้มันมีเรื่องอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มีวัคซีนตัวใหม่ มีโควิดสายพันธุ์ใหม่ มีความสนใจใหม่ ๆ ของคน ทำให้คำค้นหาหลากหลายและมีคำค้นหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น”

และอีกหนึ่งสิ่งที่กูเกิลพบว่าเป็นเทรนด์ใหม่คือ “คนไทยเริ่มค้นหาข้อมูลด้วยประโยคหรือวลีที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น”

“อย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นจากข้อมูลของเรา คือคนเริ่มใช้ “เสียง” ในการค้นหามากขึ้น คือใช้ Voice Search เวลาที่เราใช้เสียงในการค้นหา จากรีเสิร์ชที่เราทำเราสังเกตว่า คนจะถามคำถามที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ถ้าเราพิมพ์ เราอาจจะพิมพ์ว่า โควิด แต่ถ้าเราใช้เสียงค้นหา มันอาจจะเป็นคำพูด วันนี้มีคนติดโควิดกี่คน มันเลยทำให้คำค้นหามันอาจจะมีคำที่เป็นวลี/ประโยคเพิ่มมากขึ้น” คุณศารณีย์กล่าว

เมื่อเทรนด์การค้นหาเริ่มเปลี่ยนไป มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทางกูเกิลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามพัฒนาปรับตัว เพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด

หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิลประเทศไทยเล่าให้ฟังวา ทางกูเกิลได้นำเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) มาพัฒนาระบบการค้นหา ให้สามารถค้นหาคำค้นที่ซับซ้อนได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

“เทคโนโลยีเอไอตัวนี้เราเรียกว่า Multitask Unify Model (MUM) ยกตัวอย่างเรื่องโควิด-19 อย่างที่บอกว่า 15% ของคำค้นหาเป็นคำใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอ วัคซีนก็มีวัคซีนใหม่ ๆ ที่กูเกิลไม่เคยเห็น แต่จริง ๆ แล้วจำนวนยี่ห้อของวัคซีนมีไม่ได้เยอะ แต่วิธีการเสิร์ชของคนเขาใช้คำหลากหลาย คือวัคซีนที่เรามีไม่กี่ตัวเนี่ยคนใช้คำเสิร์ชประมาณ 800 กว่าคำ ใน 50 ภาษาทั่วโลก คราวนี้ เทคโนโลยีเอไอตัวนี้สามารถที่จะเข้าใจคำค้นหาที่มันแตกต่างในหลาย ๆ ภาษา แล้วก็เรียนรู้ข้ามภาษา ทำให้เราสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดขึ้นมาได้” คุณศารณีย์บอก

เธอเสริมว่า ในอนาคต MUM จะทำได้มากขึ้นอีก โดยยกตัวอย่างว่า ตอนนี้เมื่อเราค้นหาข้อมูล เราอาจจะใช้วิธีพิมพ์แล้วได้ข้อมูลกลับมา แต่ในอนาคตจะเป็นมัลติมีเดียมากขึ้น

“คำว่ามัลติมีเดียคือ เสิร์ชด้วยภาพและคำพูดพร้อมกัน สมมติชอบลายเสื้อของเพื่อนคนหนึ่ง เราสามารถใช้ Google Lens ถามกูเกิลได้ว่า ชอบลายเสื้อนี้ แต่อยากได้ลายนี้บนถุงเท้า ช่วยหาให้หน่อยว่าไปซื้อได้ที่ไหน มันจะเป็นการถามคำถามด้วยภาพและคำพูด การค้นหามันก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ใช้มัลติมีเดียได้ แล้วก็คำตอบจะแม่นยำมากขึ้น”

คุณศารณีย์กล่าวเสริมว่า “ผู้ก่อตั้งของเรา แลร์รี เพจ เขาเคยพูดว่า ผลิตภัณฑ์ที่เขารู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีมีประโยชน์มันจะต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่า “Toothbrush Test” คือเป็นเหมือนแปรงสีฟัน ผลิตภัณฑ์ทุกตัวมันน่าจะเหมือนแปรงสีฟันตรงที่ว่า เราต้องใช้วันละครั้งสองครั้ง แล้วทุกครั้งที่ใช้ก็คือมีประโยชน์ เขามองว่าผลิตภัณฑ์ของกูเกิลอยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วเราก็หวังว่า ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลจะสามารถช่วยคนไทยได้ เราก็พยายามพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของเราดีขึ้นเรื่อย ๆ เข้าใจภาษาไทย เข้าใจคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ”

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ