เรามีของดีตลอด เช่น ฉลาดเกมส์โกง หัวใจรักสี่ดวงดาว หรือ F4 ไทยแลนด์ บุพเพสันนิวาส ฯลฯ เรามีของพวกนี้อยู่ตลอด เป็น Soft Power ที่ส่งออกได้ตลอด พวกซีรีส์วาย ก็ส่งออกได้ตลอด นักร้องส่งออกได้ตลอด แต่เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน เราไปได้เสมอแต่ไปแล้ววันถัดมาหลังจากที่ไปแล้ว มันไม่ได้ทำให้คนกลับมาเชื่อว่าคอนเทนต์ไทยมันโอเค แต่มันไปได้ทีละเรื่อง มันไปได้ทีละคน เราต้องการไปยกแผง
3 กุญแจสำคัญ ถอดบทเรียน Soft Power เกาหลีใต้ถึงไทย
"Soft Power เกาหลีใต้" ปั้นให้ทรงพลังได้ภายใน 20 ปี
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล สะท้อนถึงศักยภาพของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร บันเทิง บ้านเรา ให้ พีพีทีวี นิวมีเดีย ฟัง ในยุคสมัยที่ Soft Power กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งหากอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น คือ เกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเปิดตัววงบอยแบรนด์ เกิร์ลกรุ๊ป หรือซีรีส์เรื่องใด เราพร้อมเปิดรับแทบทุกเรื่องเพราะ เราเชื่อว่าของเขาดี
แต่ของไทยมีปีละเรื่อง ดังทีละเรื่อง ถ้าไม่ดังแบบพลุแตก ก็ไม่มีคนติดต่อเข้ามา ทั้งที่ต่างประเทศรอของเราเยอะ เพราะเขาต้องการซื้ออะไรที่ถูกและดี เนื่องจากเกาหลีใต้มีราคาแพง ญี่ปุ่นมีราคาแพง จีนมีข้อจำกัดเยอะเรื่องการนำเข้าคอนเทนต์จากต่างประเทศ กลุ่มตลาดที่ใหม่มาก คือ ไต้หวัน-ไทย และตลาดจีนที่ไทยเข้าได้เจ้าเดียวในโลก เพราะฉะนั้น เราเข้าในตลาดเอเชียไม่ยาก แต่เราต้องพร้อม
จึงตั้งคำถามต่อว่า "ไทยจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร" ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี อธิบายว่าหากต้องการผลักดัน Soft Power วงการบันเทิงไทยให้ไปสู่สายตาชาวโลกและเชื่อมั่นว่า "ของไทยดีจริง" จะต้องมี 3 องค์ประกอบ
1. พัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความสามารถ
บุคคลากรในประเทศถ้าในเชิงภาพยนตร์ สังเกตว่าปัจจุบันแทบไม่มีใครทำงานในวงการภาพยนตร์อีกต่อไป แต่นิยมทำงานตาม โปรดักชั่น เซอร์วิส หรือ ที่เรียกว่ากลุ่มกองหนังนอก เพราะได้รายได้ดีกว่า กฎเกณฑ์ดีกว่า แต่ในกลุ่มคนที่เป็น ครีเอทีฟ อาร์ตติสท์ ทำงานและพัฒนาฝีมือไปเป็นผู้กำกับ คนเขียนบท ไปจนถึง คอสตูม ด้านเสื้อผ้า ที่มีคุณภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์จริงๆ มีอยู่จำนวนจำกัดมาก เพราะรายได้ของอาชีพนี้ไม่ได้สูงเพียงพอที่จะยึดเป็นอาชีพหลักอาชีพเดียวได้
ผู้กำกับหน้าใหม่ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะผลักดันตัวเองไปเป็นผู้กำกับมืออาชีพที่จะอยู่ได้นานขึ้นโดยที่ไม่มีอาชีพสำรอง เช่น การผลิตโฆษณา หรือการผลิตละคร ผู้กำกับยังไม่สามารถยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักได้ แต่ในขณะที่บุคคลากรในวงการ มีความขาดแคลน ถึงแม้จะมีคนเยอะมาก แต่เราไม่มีโอกาสให้พวกเขาไปพัฒนา เทรนด์นิ่งฝีมือ พัฒนางานศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ เพราะเขาไม่มีรายได้มากพอที่จะมีวันหยุดไปทำสิ่งนั้น ตอนนี้เราทำงานเหมือนทาส แต่รายได้แรงงานอุตสาหกรรม
2. การเปิดตลาดให้ใหญ่ขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีทั้งช่องทางที่เป็นทั้งสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ เช่น VIU , Netflix ฯลฯ โดยช่องทางออนไลน์สามารถขยายขีดความสามารถ ขยายจำนวนคอนเทนต์ไทย เช่น ซีรีส์ ให้มากขึ้นได้อีก
ช่องทีวีเรามีอยู่แล้ว และมีออนไลน์เขามาเพิ่ม (สตรีมมิ่ง) ซึ่งตอนนี้ในส่วนของช่องทางออนไลน์ ต้องพยายามขยายขีดความสามารถ เช่น เมื่อมี VIU แล้วก็ต้องพยายามที่จะขยายจำนวนซีรีส์ไทยให้เข้าไปออนแอร์มากขึ้น รวมถึง Netflix WeTV ฯลฯ ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยตลาดในประเทศพฤติกรรมคนดูของไทยจะเน้นที่คุณภาพคอนเทนต์ที่ดีที่สุด เพราะกลุ่มการรับชมไม่หลากหลายเหมือนต่างประเทศผู้ผลิตคอนเทนต์ที่จะลงสตรีมมิ่งเหล่านี้ จึงต้องทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพจริงๆ
3.บทบาทของ "รัฐ" ในการเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อสนับสนุนการขายคอนเทนต์ และสร้างพื้นฐานของทรัพยากรในประเทศไทยให้แข็งแรง
ในส่วนนี้ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี เน้นย้ำว่า รัฐสามารถยื่นมือเข้ามาได้เลย เช่น การส่งประกวด การผลักดันให้คอนเทนต์ไทยได้ไปเวทีนานาชาติ เทศกาลภาพยนตร์ เทศกาลดนตรีต่างๆ ไปจนถึงสนับสนนุนการเป็นผู้จัดงานเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ต่างประเทศเห็นและเชื่อว่าของไทยมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง เป็นช่องทางและโอกาสเปิดพื้นที่ให้สามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ
ของพวกนี้รัฐสามารถเข้าไปลงทุนได้เลยเพื่อที่จะผลักดัน ไม่ต้องลงทุนเรื่องการผลิต เพราะถ้ามีดีมานต์ มีความเชื่อในคอนเทนต์ การลงทุนจะเกิดขึ้นเอง แต่การที่จะได้ไปในเวทีโลก การจะได้ไปขายในงานภาพยนตร์นานาชาติ งานภาพยนตร์ในต่างประเทศ การเสวนานานาชาติ งานสัมมนา งานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ เราไม่มีโอกาส ไม่มีงบประมาณ ที่จะไปเรียนรู้ตรงนั้นได้เลย เราแค่ทำให้รอดไปในแต่ละวันก็ยากแล้ว ทั้งที่เราสามารถสร้างคอนเนคชั่นจากตรงนั้นได้เยอะมาก แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่มีเลย
เราไม่เคยจัดงานเทศกาลภาพยนตร์หรือดนตรีอีกเลย ดังนั้นเราควรจะเริ่มกลับมาจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ เทศกาลดนตรี เราไม่เคยมีงานประกวดระดับเอเชียในไทย เราไม่เคยสร้างสิ่งเหล่านี้ เพื่อเรียกคนเข้ามาในประเทศ เพื่อสร้างกลุ่มตลาดงานเหล่านี้ ช่วงที่ผ่านมางานเหล่านี้ไปอยู่ในสิงคโปร์ มีเพียงบริษัทไทย 5-10 บริษัทเท่านั้นที่ได้ไป ทั้งที่มันควรจะเป็นร้อยๆ บริษัท แต่เราไม่มีโอกาส และรัฐก็ไม่คิดจะสนับสนุนเพราะคิดว่ามันเหนื่อย ทั้งที่ควรให้คนไทยไปดู ไปพูดงานเหล่านั้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้เขาได้เห็นว่าเมืองไทยมีดีนะ ซึ่งเราไม่มีงบประมาณผลักดันตัวเองไปอยู่ตรงนั้น แต่รัฐทำได้ ทำได้ 100% ถ้าจะทำจริงๆ
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ขยายความว่า คนที่เก่งที่สุดในเมืองไทยมีจำนวนมหาศาลแต่พวกเขาไม่มีเวลา ไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีโอกาสมากพอ ซึ่งถ้าคนเหล่านี้ได้ไปตลาดต่างประเทศ ได้ไปเปิดโลกจะยิ่งทำให้คนอื่นๆ แข็งแกร่งขึ้น เพราะต่างประเทศได้เห็นและเชื่อว่าTHAI CONTENT IS KING
อุตสาหกรรมในประเทศผลิตละครปีละ 200-300 เรื่อง ภาพยนตร์ผลิตประมาณ 50-60 โปรเจกต์ต่อปี ถ้ารัฐลงทุน 1 โปรเจกต์ไม่ได้ช่วย แต่มันจะเป็นไฟไหม้ฟางเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขยายจำนวนภาพยนตร์จาก 60 เป็น 120 เรื่อง ให้ดัง ดี และมีคนดู ละครก็เช่นกันเราเปิดพื้นที่ให้สามารถผลิตจาก 200 เรื่องเป็น 400 เรื่องที่ขายได้ทั้งหมด มีเรตติ้งที่ดี และมีชื่อเสียง สร้างดาราใหม่ๆ ได้ แต่ของเหล่านี้มันยังไม่เกิด และมันเกิดได้ช้าถ้าเราไม่มีคนสร้างพื้นฐานสนับสนุนให้เรา
ในท้ายที่สุดแล้ว ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี บอกว่า อันดับแรก คือ การขยายสัดส่วนการเติบโตภายในประเทศและต่างประเทศ แต่จะโตได้อย่างไรท่ามกลางคู่แข่งและผู้เล่นในตลาดเยอะขึ้น ทั้ง Disney+ , HBO GO , HBO Max นอกเหนือจาก VIU , Netflix , iQiyi (อ้ายฉีอี้) , ฯลฯ การขยายฐานคนดูให้ถึง 30-40 ล้านคน ยังเป็นเรื่องยากเพราะต้องเสียค่าบริการหรือแม้จะดูฟรีก็ตาม แต่มีโอกาสที่จะไปได้เพราะหากย้อนดู จาก 3-4 ปีก่อน Netflix ลงทุนคอนเทนต์ไทย ปีละเรื่อง หรือ 2 ปี 1 เรื่อง แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงต้องขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์จากภาครัฐที่จะจำกัดการผลิตคอนเทนต์ไม่ให้หลากหลาย จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องพยายามลดข้อจำกัดเหล่านี้ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริงและก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะฉะนั้นการผลักดันให้คอนเทนต์ไทยโตในต่างประเทศได้ดีก็ต้องใช้เวลาแต่มองว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นได้ถ้าตลาดโตอีกก็จะสามารถขยายไปได้อีก