4 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล
PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผล 1 มิ.ย. นี้ คนไทยพร้อมไหม?
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นวันสำคัญที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลบังคับใช้ ข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็คือข้อมูลที่เราไปติดต่อธุรกิจ ติดต่อร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งจะให้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ในการทำธุรกรรมที่ตัวเองมีกิจการ เช่น บริษัทประกันภัยชีวิต ธนาคาร ร้านค้าออนไลน์ หรือการไปซื้อยา ไปร้านเสริมสวย เป็นต้น
โดยกิจการเหล่านี้ก็จะมีข้อมูลของลูกค้าที่เราไปให้ไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งร้านค้าหรือธุรกิจที่เก็บข้อมูลร้านค้าจะต้องเก็บให้ดี ห้ามให้รั่วไหล หรือห้ามเอาไปขาย หรือเอาไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ซึ่งอันนี้มีความผิดตามกฎหมายนี้
ทั้งนี้ประชาชนก็จะมีสิทธิ์ในข้อมูลของตัวเอง ถ้าไม่ให้ความยินยอมร้านค้า หรือธุรกิจที่เอาข้อมูลของท่านไป ร้านค้าหรือธุรกิจจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์จริงในการคุ้มครองข้อมูลของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการให้ข้อมูลกับกิจการร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น
โดยส่วนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับ PDPA คือการถ่ายภาพ การที่ไปถ่ายภาพแล้วไปติดบุคคลอื่นเข้ามาในภาพ ซึ่งไม่รู้จักแล้วติดโดยบังเอิญ อันนี้ไม่มีความผิด แม้ว่าจะนำภาพนั้นไปโพสต์ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ถ้าไม่ได้ไปทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสื่อมเสีย ถือว่าไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงเรื่องกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ที่บ้าน แล้วไปติดภาพของคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ้าไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ เป็นข้อมูลที่เก็บไว้เพื่อป้องกันอาชญากรรมก็ไม่มีความผิด
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า PDPA เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ดูแลประชาชนในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งจะไปเอาผิด หรือลงโทษใคร จึงไม่ต้องวิตกกังวล เพียงแต่ว่าถ้าข้อมูลมีการรั่วไหล และถูกนำไปใช้ที่ไม่ถูกต้อง ก็ร้องเรียนติดต่อเข้ามาได้ ตามกฎหมายก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่เอาข้อมูลไปใช้ได้ ก็ทำให้ข้อมูลส่วนตัวได้รับความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ต่อทุกคน