ดัชนีคอร์รัปชัน 2022 ไทยคะแนนกระเตื้อง แต่ยังหนีไม่พ้นอันดับหลักร้อย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ประจำปี 2022 ประเทศไทยได้ 36 คะแนน อยู่ในอันดับ 101 จาก 180 ประเทศ บ่งชี้ “ไทยไม่ไปไหนเลย”

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2022 โดยให้คะแนนและจัดอันดับ 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลก เกณฑ์อยู่ที่ 0 คะแนน (ทุจริตมาก) ถึง 100 (ปลอดทุจริต)

โดยภาพรวม ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงล้มเหลวในการต่อสู้กับการทุจริต โดยมีประเทศมากถึง 95% ที่ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการปัญหาการทุจริตเลยนับตั้งแต่ปี 2017

เจ้าหน้าที่ระดับสูงยูเครนลาออกนับสิบ ถูกกล่าวหารับสินบน-ทุจริต

เปิดบันทึกคำสารภาพ! ทุจริตสอบตำรวจ

ปธน.เวียดนามลาออก เซ่นปมลูกน้องเอี่ยวทุจริต

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องของการปราบปรามทุจริตเป็นไปอย่างยากลำบาก คือเรื่องของความรุนแรงและความขัดแย้ง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยความขัดแย้งสร้างโอกาสในการคอร์รัปชัน ยิ่งเป็นประเทศที่ไม่มีสันติภาพ ยิ่งมีแนวโน้มจะเกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย และในทางกลับกัน ยิ่งเป็นประเทศที่ทุจริตมาก ความสามารถในการปกป้องประชาชนก็จะยิ่งน้อยลง ความไม่พอใจของประชาชนจะมีมาก และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

สำหรับคะแนน CPI เฉลี่ยทั่วโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 43 คะแนนติดต่อเป็นปีที่ 11 และมากกว่า 120 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศเหล่านั้นมีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน

ประเทศที่ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของตารางคะแนน CPI ในปี 2022 ยังคงเป็น เดนมาร์ก ด้วยคะแนนสูงถึง 90 คะแนน เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อน 2 คะแนน รองลงมาเป็นฟินแลนด์และนิวซีแลนด์ที่ได้ 87 คะแนนเท่ากัน รั้งตำแหน่งอันดับ 2

ส่วนประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชันมากที่สุด หรืออยู่ในอันดับที่ 180 คือ โซมาเลีย ได้ไปเพียง 12 คะแนนเท่านั้น อันดับใกล้กันคือ ซูดานใต้ และซีเรีย มี 13 คะแนน

ขณะเดียวกัน TI ประเมินว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้การละเลยความพยายามต่อต้านการทุจริตอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยบรรดาผู้นำเพิกเฉยต่อความพยายามต่อต้านการทุจริต ทำให้ระดับการทุจริตในภูมิภาคนี้ซบเซาเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดทางการทูตที่สำคัญหลายครั้งในปี 2022 เช่น G20 แต่บรรดาผู้นำต่างพุ่งเป้าไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่าที่จะจัดการปัญหาทุจริตและประเด็นสำคัญอื่น ๆ

คะแนน CPI เฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 45 คะแนน และ 70% ของประเทศในภูมิภาคนี้มีคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน

ในเอเชียแปซิฟิกมีหลายประเทศที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ที่มีคะนน CPI สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 5 ของโลก

อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่คะแนน CPI ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น อัฟกานิสถาน และกัมพูชา ที่ได้ไป 24 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 150 หรือเมียนมา 23 คะแนน อันดับที่ 157 และเกาหลีเหนือ 17 คะแนน อันดับที่ 171

สำหรับประเทศไทยเอง คะแนน CPI 2022 อยู่ที่ 36 คะแนน เพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้ว 1 คะแนน ได้อันดับที่ 101 ของโลก ร่วมกับ อัลแบเนีย เอกวาดอร์ คาซัคสถาน ปานามา เปรู เซอร์เบีย ศรีลังกา และตุรกี

กระนั้น หากเทียบกับคะแนนและอันดับของปีก่อน ๆ (ปี 2021 คะแนน 35 อันดับ 110 / ปี 2020 คะแนน 36 อันดับ 104 / ปี 2019 คะแนน 36 อันดับ 101) จะพบว่า “เราไม่เคยไปไหนเลย”

จะสังเกตเห็นว่า ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ไม่เกิน 36 คะแนน และอันดับก็ไม่เคยพ้นจากหลักร้อยมาอยู่ในหลักสิบเลย

ทั้งนี้ TI ประเมินว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก เช่น บังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา อาจเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่ประชาชนจะได้แสดงความคิดเห็น และเลือกคณะผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามาจัดการปัญหาการทุจริตในประเทศ (ถ้าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ไม่มีการทุจริตซะก่อน...)

 

เรียบเรียงจาก CPI Index

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ