ทีมข่าวพีพีทีวียังคงเกาะติดการตรวจสอบนายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่ นายกอบจ.ปทุมธานี ที่ถูกตรวจสอบกรณีการตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ช่วงปี 2555-2556 หลายสัญญา ซึ่งถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่ามีการตั้งราคาจัดซื้อสูงเกินกว่าความเป็นจริงนั้น
ล่าสุด นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้สัมภาษณ์ เปิดเบื้องหลังกระบวนการตรวจสอบของ สตง. ที่พบพิรุธโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 12 สัญญา ตั้งงบประมาณเกินจริงกว่า 44 ล้านบาท
โดยนายสุทธิพงษ์ บอกว่า กรณีนี้ สตง. ชี้มูลไปในปี 2559 หลังจากสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 3 ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบจ.ปทุมธานี ในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมาติดตั้งตามอำเภอต่างๆ ว่าได้ใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นโครงการที่หน่วยงานขนาดเล็กในพื้นที่ทับซ้อนกัน เช่น อบต. หรือ เทศบาล ก็ทำกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานตามวงรอบปกติ
แต่ปรากฏว่าผลการตรวจสอบ พบว่าเครื่องออกกำลังกายที่จัดซื้อใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะบางส่วนชำรุด และตั้งงบประมาณรายจ่ายในการจัดซื้อ ก็ไม่เป็นไปตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ว่าหากจะตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี หากเป็นครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ว่าจะต้องมีการไปสืบราคาก่อนว่าครุภัณฑ์ที่จะซื้อ ตามราคาในจังหวัดหรือท้องถิ่นนั้น ๆ มีราคาเท่าไหร่ ซึ่งผลการตรวจสอบไม่พบหลักฐานการไปสืบราคา
นอกจากนี้ การตั้งงบประมาณซื้อเครื่องออกกำลังกายของ อบจ.ปทุมธานี ในขณะนั้น ตั้งราคา 500,000 บาท ต่อ 1 ชุด ซึ่งในแต่ละชุดจะมีเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 8 รายการ ราคาแพงกว่าที่หน่วยงานท้องถิ่น 14 ท้องถิ่น จัดซื้อในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่ซื้ออุปกรณ์จำนวนใกล้กัน สเปคใกล้กัน ในราคาเพียง 100,000 - 200,000 บาทเท่านั้น
เมื่อสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 3 พบพิรุธ จึงรวบรวมกรณีที่น่าจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย ส่งมาให้สำนักตรวจสอบ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องสืบสวนในขณะนั้น ตรวจสอบเพิ่มว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งสำนักตรวจสอบมีการตั้งประเด็นสอบ 2 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งงบประมาณครั้งนั้นชอบหรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ และ 2. การจัดซื้อครั้งนั้นถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และราคาสูงหรือไม่
ซึ่งผลการสืบสวนพบว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนั้นไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และตั้งราคาสูงโดยที่ไม่มีการสืบว่าอุปกรณ์ที่จัดซื้อควรราคาเท่าไหร่ แต่กลับตั้งราคาตามงบประมาณที่ตั้งในปีนั้น
โดยมีการทำโครงการทั้งหมด 12 สัญญา แบ่งเป็นปี 2555 จำนวน 3 สัญญา และปี 2556 จำนวน 9 สัญญา รวมงบประมาณ 74.1 ล้านบาท โดยจัดซื้อหลายครั้ง การจัดซื้อใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และวิธีสอบราคาตามระเบียบพัสดุที่ใช้ในขณะนั้น ซึ่งมีผู้เสนอราคาในแต่ละครั้งจำนวนหลายราย แต่ชนะการเสนอราคาและได้งานไปเพียง 2 ราย โดยรายหนึ่งได้ 4 สัญญา อีกรายได้ 8 สัญญา
นอกจากนี้ สตง. ได้ไปสืบราคาเครื่องออกกำลังกายจากร้านค้า จำนวน 3 ราย ที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะใกล้เคียงกับที่ อบจ.ปทุมธานี จัดซื้อ พบว่าราคาเครื่องออกกำลังกายมีราคาชุดละ 160,000 - 200,000 บาท ตรงกับราคาที่หน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ จัดซื้อในช่วงเวลาเดียวกัน สตง. จึงนำราคาที่ได้มาเฉลี่ย พบว่า มีราคาชุดละ 195,000 บาท และเมื่อคำนวณกับจำนวนชุดเครื่องออกกำลังกายที่ อบจ.ปทุมธานีจัดซื้อใน 12 สัญญา กว่า 100 ชุด พบความเสียหายประมาณ 44.5 ล้านบาท
ทำให้ผู้ตรวจสอบได้ออกรายงานดำเนินการทางวินัย ทางละเมิด และทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีการประชุมและมีมติชี้มูลตามที่ฝ่ายตรวจสอบเสนอ และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยอีกว่า การดำเนินการทางละเมิด ซึ่งเป็นทางแพ่ง หลังจากที่ทาง สตง. มีมติว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทำให้ภาครัฐเสียหาย และส่งเรื่องต่อไปยังทางจังหวัด ปรากฏว่าทางจังหวัดปทุมธานีโต้มาว่าไม่ได้เสียหาย ซึ่งตามกฎหมายในขณะนั้น ต้องส่งเรื่องต่อให้คณะแพ่งของกรมบัญชีกลางเป็นผู้ตัดสิน
ซึ่งในท้ายที่สุดกรมบัญชีกลางตัดสินว่ามีความเสียหาย สอดคล้องกับที่ สตง.ชี้มูล และส่งเรื่องกลับไปทางจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้น ไม่ไดมีโต้ความเห็น และเห็นด้วยกับที่กรมบัญชีกลางเสนอ เท่ากับว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้ง 12 สัญญาต้องมีความรับผิดทางละเมิด
ซึ่งจากการสอบถามความคืบหน้าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า หลังจากนั้น นายก อบจ.ปทุมธานี คนใหม่ ที่เข้าไปรับตำแหน่ง ก็มีคำสั่งให้นายก อบจ. คนเดิมกับทีมงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อ ต้องชดใช้ทางแพ่ง คือแบ่งสัดส่วนชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นรวม 44.5 ล้านบาท ตามอัตราส่วนที่กรมบัญชีกลางกำหนด ซึ่งนายก อบจ. ที่จัดซื้อ ได้ฟ้องศาลปกครองให้วินิจฉัย ทำให้ในทางปฏิบัติยังไม่ได้มีการชดใช้เงินส่วนนี้คืนรัฐ เพราะกระบวนการยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนการดำเนินการทางอาญา สุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามเรื่องทราบว่าอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยทาง ป.ป.ช. มีการตั้งอนุฯ ไต่สวนแล้ว เพราะมีการขอหลักฐาน รวมไปถึงสอบพยานบุคคลที่เป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว
ส่วนทางวินัย หลังจากที่ สตง. ชี้มูลไปในปี 2559 จนปัจจุบันปี 2567 ทางจังหวัดแจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องรอติดตามผล โดยผลทางวินัยมีได้สองกรณีคือวินัยร้ายแรง โทษถึงขั้นไล่ออกหรือปลดออก แต่ถ้าเป็นวินัยไม่ร้ายแรง ก็จะมีตั้งแต่ลดขั้นเงินเดือน ไปจนถึงตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์
“ปู-มัณฑนา” ถึง สน.ทองหล่อแล้ว-คู่กรณีซัดกลับดอกเบี้ยโหดลูกหนี้เสนอเอง!
มั่นใจ "บิ๊กโจ๊ก" โอกาสชนะสูง เชื่อ โดนรวมหัวสกัดให้พ้นทาง
สรุป 8 ทีมสุดท้าย ยูโร 2024 โปรแกรมรอบก่อนรองฯ เวลาแข่งขัน EURO 2024