ปธ.มูลนิธิสืบฯ ค้าน !! สร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แก้น้ำท่วมไม่ตรงจุด

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นค้าน ปมสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ลุ่มน้ำยม ชี้เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ไม่ตรงจุด

จากกรณีน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดลุ่มแม่น้ำยม ส่งผลให้ประเด็นการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำบริเวณลุ่มน้ำยม หรือ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง

ล่าสุดนายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่แม่น้ำยม ได้มีการพูดคุยกันมาอย่างยาวนานหลายปีแล้ว โดยในส่วนของมูลนิธิสืบนะคะเสถียร มีความเห็นคัดค้านมาโดยตลอด เพราะมองว่า การสร้างเขื่อนไม่ใช่ประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมโดยตรง

คอนเทนต์แนะนำ
“ปลอดประสพ” เห็นด้วย! หนุนสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แก้ปัญหาน้ำท่วม
เทียบผลดี-ผลเสีย? ปมสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ลุ่มน้ำยม

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โดยนักวิชาการ องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือ NGO และชุมชนในพื้นที่ พยายามเสนอแนวทางอื่นในการบริหารจัดการน้ำทางเลือกในพื้นที่ ซึ่งทางรัฐบาล จะให้ความสำคัญ และหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาเพื่อเป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันมากกว่ามุ่งเป้าไปที่เรื่องการสร้างเขื่อนเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีวิธีทางอื่นนอกจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนอย่างไร นายภาณุเดช บอกว่า จริงๆ แล้ว การจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม เป็นเรื่องของการจัดการที่น่าจะเป็นประเด็นหลัก ซึ่งเรื่องการสร้างเขื่อน เป็นเพียงจิ๊กซอว์เดียวในการกักเก็บน้ำในปริมาณมาก แต่ย้ำว่า ทางนักวิชาการ และคนในพื้นที่ มีความเห็นว่า ควรบริหารจัดการน้ำไปในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมน่าจะดีกว่า

“ประเด็นตอนนี้ ถ้าเราดูในเรื่องของปริมาณน้ำจริงๆ มันก็มีพื้นที่ ทั้งแถวชุมแสง บึงบอระเพ็ด เป็นตัวรองรับน้ำได้อยู่ ซึ่ง ณ วันนี้ ปริมาณความจุน้ำ ยังเพียงพอที่จะรองรับน้ำที่ค่อยๆ ทยอยมา ของลุ่มน้ำยม  ผมก็มองว่า มันไม่น่าจะเป็นประเด็นที่จะต้องไปพิจารณาเรื่องของการสร้างเขื่อนในพื้นที่ตรงนี้เป็นหลักเลย ณ วันนี้เลย แต่ว่าเราน่าจะมามองเรื่องของแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมมากกว่า”

เขื่อนแก่งเสือเต้น google maps
สภาพป่าในพื้นที่จุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หลังจากนี้หากฝ่ายรัฐบาลเชิญให้ไปพูดคุย เพื่อหารือแนวทางและหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ให้กับประชาชน ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะเข้าไปพูดคุยหรือไม่ นายภาณุเดช บอกว่า หากมีการเปิดเวทีสาธารณะให้พูดคุยกัน ก็ถือเป็นทางออกที่ดี ระหว่างรัฐบาลและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนำงานวิชาการและเทคนิคต่างๆ มานำเสนอถึงความเหมาะสมและแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน แต่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยที่จะสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์

“อันนี้ผมคิดว่าจะมีขั้นตอนกระบวนการแต่ว่าสิ่งที่เราเป็นห่วง ก็คือเราไม่อยากให้ไปฟันธงหรือว่าไปเคาะเลยว่าคำตอบ คือ เรื่องของการสร้างเขื่อนอย่างเดียว อันนี้ผมว่ามันไม่น่าจะใช่คำตอบที่รัฐบาลจะไปมองอย่างนั้น แต่ว่าแนวทางจะเป็นยังไง ก็ต้องไปดูข้อมูลงานวิชาการ แล้วก็การมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นของภาคประชาชนมาประกอบด้วย”

นายภาณุเดช บอกด้วยว่า มีความกังวล หากมีการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า เพราะจะทำให้พื้นที่ป่าหายไป โดยปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศไทยเหลือน้อยมาก ดังนั้น ทางมูลนิธิมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พยายามทำให้พื้นที่ป่ามีเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ประเมินจากแผนที่ดาวเทียม ก็พบว่า พื้นที่ป่าลดลงกว่า 100,000 ไร่ จึงคิดว่า การสร้างเขื่อนหรือกิจกรรมอื่น จะทำให้พื้นที่ป่าหายไปมากขึ้นในทุกๆปี และการนำข้อมูลการสูญเสียพื้นที่ป่ามาประเมินประกอบการพิจารณาการสร้างเขื่อนด้วย ก็จะทำให้ตระหนักได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดน้ำท่วม คือ การไม่มีพื้นที่ป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ