ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวกรณีผู้ป่วยทันตกรรม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการทำฟันที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าต้องรอคิวบริการนานถึง 8 ปีนั้น เรื่องนี้น่าจะเกิดจากข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการบริหารจัดการคิวบริการของโรงพยาบาลดังกล่าว
แต่ในส่วนของระบบบัตรทองนั้น สปสช. ยืนยันในสิทธิประโยชน์บริการทันตกรรมที่ครอบคลุมเพื่อมอบให้กับประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิทุกคน
อย่างไรก็ดีหลังจากทราบข้อมูล ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี ได้พูดคุยกับผู้ป่วยแล้ว และได้มีประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนนทบุรี (สสจ.) โดยแนวทางเบื้องต้นจะนำผู้ป่วยเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลปากเกร็ด เนื่องจากสภาวะในช่องปากจำเป็นต้องได้รับการใส่ฟัน ขณะนี้ทาง สสจ.นนทบุรี ได้มีการประสานคิวบริการกับทาง รพ.ปากเกร็ด แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธรรมชาติของการให้บริการทันตกรรม เป็นการรักษาที่ต้องทำหัตถการแทบทุกราย แต่ละเคสต้องใช้เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับความยากง่าย จึงมีข้อจำกัดในการให้บริการประชาชนจำนวนมากในแต่ละวัน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงหาทางเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษา โดยการเชิญชวนคลินิกทันตกรรมเอกชนมาช่วยให้บริการทันตกรรมพื้นฐาน ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขุดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นบริการที่มีความต้องการมาก เพื่อแบ่งเบาภาระของหน่วยบริการภาครัฐ ทำให้ทันตแพทย์เฉพาะทางได้มีเวลาให้การรักษาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบแล้วจำนวน 1,427 แห่ง ร่วมให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ครอบคลุมบริการทันตกรรม 5 รายการ ดังนี้ 1. ขูดหินปูน 2. อุดฟัน 3. ถอนฟัน 4. เคลือบหลุมร่องฟัน และ 5. เคลือบฟลูออไรด์ โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ปีละ 3 ครั้ง
ส่วนกรณีการทำฟันเทียมและรากฟันเทียมนั้น ประชาชนสามารถติดต่อรับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองได้ที่ รพ.รัฐประจำอำเภอและ รพ.รัฐประจำจังหวัด (รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ทุกแห่ง
“หน่วยบริการนวัตกรรมคลินิกทันตกรรมนั้น ที่ผ่านมามี รพ.หลายแห่ง ได้ดึงคลินิกทันตกรรมเหล่านี้ ร่วมเป็นเครือข่ายบริการ เช่นที่ รพ.แพร่ มีคลินิกทันตกรรมเป็นเครือข่ายบริการ โดยร่วมให้บริการทันตกรรม 5 รายการข้างต้นนี้ ซึ่งทำให้ทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลสามารถใช้เวลาในการรักษาผู้ป่วยทันตกรรมที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ทั้งการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียม ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดบริการทันตกรรมเพื่อลดคิวผู้ป่วยได้” โฆษก สปสช. กล่าว
ดูรายชื่อคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ ได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. https://media.nhso.go.th/30plus/map_responsive.php