ในปฏิบัติการค้นหาผู้ติดอยู่ใต้ซากตึก สตง. ถล่ม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แบ่งโซนการค้นหาเป็น 4 โซน คือ A B C และ D นั้น ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร ยอมรับว่า การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาจล่าช้า โดยเฉพาะในโซน A และแม้พบผู้เสียชีวิตที่จุดเดียวกัน ก็ยากที่จะนำร่างออกมาได้ เนื่องจากวัสดุที่ถล่มลงมามีน้ำหนักมาก การใช้มือเปล่าจะทำให้ล่าช้า แต่หากมีเครื่องมือที่สามารถคีบอุปกรณ์วัสดุออกมาได้ ก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วขึ้น
อ.ธเนศ บอกว่า เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตเป็นหลัก โดยใช้สุนัข K9 และกล้องสแกนเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ติดอยู่ใต้ซากหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าตำแหน่งของผู้ติดอยู่กระจายไปทั่วอาคาร ไม่ได้อยู่เฉพาะบริเวณจุดหนีไฟเท่านั้น เนื่องจากขณะเกิดเหตุ ผู้คนต่างพยายามวิ่งหนีเอาตัวรอด ทั้งนี้ พื้นที่โซน A เป็นจุดที่พบผู้ติดอยู่มากที่สุด โดยมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจนขึ้น
ในส่วนของโซน C ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณชีพหรือผู้ติดอยู่ใต้ซาก ส่วนโครงสร้างอาคารที่พังถล่มลงมายังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีชั้นใต้ดินหรือไม่ ต้องตรวจสอบแบบแปลนการก่อสร้างเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม อาคารข้างเคียงมีชั้นใต้ดิน ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบต่อไป ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของการถล่ม
ปัจจัยที่ทำให้การกู้ภัยเป็นไปได้ยาก เนื่องจากวัสดุที่ถล่มลงมาเรียงตัวเป็นรูปหน้าจั่ว ทำให้การรื้อถอนมีความซับซ้อนมากขึ้น ในอดีตเคยมีอาคารถล่มในลักษณะนี้ แต่เป็นเพียง 5-7 ชั้น ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่า ขณะที่อาคารที่เกิดเหตุมีถึง 33 ชั้น ทำให้น้ำหนักของวัสดุที่ทับถมกันมากขึ้น การตรวจสอบจากวิดีโอขณะถล่มลงมาพบว่าอาคารโน้มไปทางตำแหน่ง A และมีวัสดุหลายชั้นถล่มทับลงมา ส่งผลให้การกู้ภัยมีความยากลำบาก
นอกจากนี้ บ้านเรือนของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดรอยร้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ