ยังไม่หมดหวัง! ภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต ตึก สตง. ถล่ม

โดย PPTV Online

เผยแพร่

"ธเนศ" ลั่นภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต ตึก สตง. ถล่ม ยังไม่หมดหวัง เผยจุด C - D ต้องรีบบุกช่วย คาดมีร่างผู้ประสบภัยจำนวนมาก ยืนยันตั้งใจทำงานต่อไป

1 เมษายน 2568 ผศ.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยถึงประเด็นตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มลงมาหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผ่านรายการเปิดโต๊ะข่าว PPTV HD 36 โดยระบุว่า ช่วงเวลาเมื่อวานประมาณ 6 โมงเย็น มีการเตรียมรถเครนประมาณ 500 – 600 ตันไว้อยู่แล้ว ซึ่งห่างจากพื้นที่กอง เพื่อยื่นเครนไปยกวัสดุอุปกรณ์ หรือของหนักจากซากปรักหักพังในแนวดิ่ง เพื่อไม่ให้กระทบไปด้านล่าง ส่วนการทำงานในขั้นตอนถัดไป ต้องทยอยนำแผ่นคอนกรีตออก

คอนเทนต์แนะนำ
DSI เร่งสืบสวนเหตุตึกสตง. ถล่ม หากพบผิดรับเป็นคดีพิเศษทันที
นายกฯ ลั่นต้องหาต้นเหตุ-ผู้รับผิดชอบตึกสตง.ถล่มให้ได้ สั่ง 8 กระทรวงเร่งแก้ไขปัญหาทุกมิติ
สแกนพบกลุ่มผู้สูญหายกว่า 70 คน อยู่กลางซากตึก เร่งช่วยเหลือหวังมีปาฏิหาริย์

ผศ.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร รายการเปิดโต๊ะข่าว
ผศ.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร

ส่วนการแบ่งโซนตามการกู้ภัยในเขตเมือง Urban search and rescue เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำงานในโซนของตน จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและไม่กระทบผู้ประสบภัย ซึ่งมีการใช้บูมเครนยกของหนัก โดยไม่ได้ยกเฉพาะโซนใดโซนหนึ่ง แต่ยกได้ทุกโซนทั้ง A , B , C , D

การแบ่งงานตามแต่ละโซน โดยทั่วไปจะเริ่มจากการสแกนหาตำแหน่งผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายใน ดูว่ามีอุปสรรคใดบ้างที่ต้องฝ่าเพื่อเข้าไปถึงผู้ประสบภัย ความลึกเท่าไหร่ ทั้งยังนำสุนัข K9 ของต่างชาติเข้ามาช่วย และต้องมีกำลังคนเข้าไปตัดยก ขุดออก ส่วนเครนรอยกของหนักอยู่ด้วยสลิง ซึ่งมีความปลอดภัยไม่สะเทือนผู้ประสบภัยแน่นอนเพราะเป็นเรื่องแรกที่คำนึงถึง 

ทั้งนี้ มีบางจุดที่ต้องรีบบุกเข้าไป เช่น โซน C , B คาดว่าเป็นจุดที่มีร่างผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ายังคงมีสัญญาณชีพอย่างชัดเจน และวันนี้รับทราบมาว่า จะเริ่มทยอยยกยอดสุดที่เป็นแผ่นคอนกรีตทับซ้อนออก เมื่อพื้นที่เริ่มเสมอกันจะสลับกันยกออกระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง

ผศ.ธเนศ กล่าวว่า ยังคงหวังว่าผู้ประสบภัยจะอยู่ในโพรงที่สามารถขยับตัวได้ เช่น โพรงของปล่องลิฟต์ เพราะเป็นส่วนที่แข็งแกร่ง และโพรงบันไดหนีไฟ ฉะนั้น ความแข็งแรงของปล่องลิฟต์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเขาไปอยู่ตรงนั้นกับช่องบันไดที่เชื่อมระหว่างชั้น ตรงนี้ก็มีโอกาสเป็นโพรงที่คนจะอยู่ได้เช่นกัน

ซึ่งเรื่องนี้สามารถนำมาเป็นความรู้ได้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นให้ไปที่บันไดหนีไฟ เช่น ตอนกู้ตึกถล่มเมื่อปี 2557 มีผู้รอดชีวิตเพียงรายเดียวคือคนที่อยู่ใกล้ปล่องลิฟต์ โดยพื้นพับลงมาเป็นสามเหลี่ยมช่วยชีวิตพอดี ก็เป็นตัวอย่างว่า สามเหลี่ยมสามารถช่วยชีวิตได้อันดับ 1 และ สองคือปล่องหรือโพรงที่มีความแข็งแกร่ง เช่น ปล่องลิฟต์ ช่องบันไดหนีไฟ

จากข้อมูลจะมีโอกาสมีสามเหลี่ยมรอดชีวิตอย่างที่กล่าวมาหรือไม่ ผศ.ธเนศ ตอบว่า มองจากรูปภาพครั้งแรกตนรู้สึกว่า พังราบขนาดนี้เป็นแพนเค้ก แทบจะไม่มีสามเหลี่ยมรอดชีวิต แต่เท่าที่สำรวจหลังผ่านมา 1 วัน วันที่ 2 ก็เห็นว่ามีโพรงอยู่บ้าง แม้จะไม่ใช่สามเหลี่ยมช่วยชีวิตอย่างที่พูดถึง โดยเมื่อวานคุณไทด์ก็ได้มุดเข้าไปเห็นเป็น 1 ห้อง แต่พอเข้าไปแล้วไม่เจอใคร ก็รู้สึกเสียดาย แสดงว่าคนหลุดจากโพรงนี้ออกไปอยู่ด้านนอก

ผศ.ธเนศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในแต่ละเหตุการณ์มีความแปลก แตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว แต่ส่วนหนึ่งเรามักจะพบอะไรบางอย่าง เช่น เห็นเป็นพังราบแต่ก็ยังมีโพรง จึงคาดหวังว่าอยากจะช่วยเขา อย่างน้อยให้รอดออกมาอีกสัก 3-6 คน ก็ดีใจทุกครั้งที่ช่วยได้ ตนขอชื่นชมหน่วยกู้ภัยทุกคน ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาหลังผ่านมา 72 ชั่วโมง แต่ยืนยันว่าไม่หมดความหวัง ยังภาวนาว่าจะหาได้ และจะทำงานกันอย่างตั้งใจต่อไป

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ