ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับพีพีทีวีว่า ในการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีตึก สตง. ถล่ม ขณะนี้เริ่มมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จุดเริ่มต้นของการถล่มน่าจะเกิดขึ้นบริเวณ "ผนังปล่องลิฟต์" ซึ่งอยู่ด้านหลังตัวอาคาร โดยเมื่อผนังปล่องลิฟต์ถล่มลงมา ก็ส่งผลให้อาคารทั้งหลังถล่มตาม เนื่องจากผนังปล่องลิฟต์ถือเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร เมื่อโครงสร้างหลักพัง อาคารจึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้
“จึงเกิดข้อสงสัยว่า ผนังปล่องลิฟต์พังได้อย่างไร ปกติแล้วโครงสร้างบริเวณนี้ต้องแข็งแรง ทำจากผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จนกระทั่งมีเอกสารจาก สตง. ที่ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ระบุในรายละเอียดว่า มีการขอแก้ไขแบบผนังปล่องลิฟต์ โดยปรับลดความหนาจาก 30 ซม. เหลือ 25 ซม. ซึ่งถือว่าลดลงถึง 5 ซม.”
ศ.ดร.อมร ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การลดความหนาผนัง อาจกระทบต่อกำลังรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นจุดที่ถล่มพอดี จึงอยากตรวจสอบว่า แบบที่ขอปรับลดนั้น เป็นบริเวณผนังเดียวกับจุดที่ถล่มหรือไม่ เพราะผนังปล่องลิฟต์มีหลายด้าน หลายตำแหน่ง ต้องดูให้ชัดเจนว่าแบบที่ลดความหนา เป็นส่วนที่พังลงมาหรือไม่
สำหรับการปรับลดขนาดลักษณะนี้ ซึ่งมีผลต่อกำลังรับน้ำหนัก จำเป็นต้องสอบถามว่า ใครเป็นผู้อนุมัติ และอนุมัติได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้ออกแบบเดิม อนุมัติให้ปรับลดความหนาได้หรือไม่ ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า หากพบว่ามีการปรับลดขนาดจริง และเป็นปัจจัยที่ทำให้อาคารถล่ม ศ.ดร.อมร ระบุว่า
“ถ้ามีการปรับลด และกระทบต่อกำลังรับน้ำหนัก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การถล่มได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูรายละเอียดจากรายงานการคำนวณก่อน เพราะความหนาของผนังมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการรับน้ำหนัก เช่น ก่อนปรับลด ผนังหนา 30 ซม. รับน้ำหนักได้เท่าไร ถ้าลดเหลือ 25 ซม. แล้วรับได้เท่าไร และเมื่อรวมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้อาคารโยกตัว ก็ยิ่งเพิ่มแรงกระทำต่อผนังปล่องลิฟต์”
ศ.ดร.อมร ยังกล่าวอีกว่า ต้องพิจารณาร่วมกับคุณภาพวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตหรือเหล็กเสริม ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากผนังบางลง และวัสดุไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจรับน้ำหนักไม่ไหว และเมื่อรวมกับแรงจากแผ่นดินไหว ก็กลายเป็นสาเหตุของการถล่มได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลตัวเลขชัดเจน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเชิงวิศวกรรม ซึ่งจะต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดจากคณะกรรมการ
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า มีการปลอมลายเซ็นวิศวกรเพื่อขอแก้ไขแบบ ซึ่ง ศ.ดร.อมร ระบุว่า
“ถ้าข้อเท็จจริงพบว่า มีการปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกรจริง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผิดตามพระราชบัญญัติวิศวกรฯ และต้องสอบสวนต่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร”