วันที่ 16 เม.ย.2568 นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชาวไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เรื่องใหญ่LiveTalk” ถึงสาเหตุที่ทำให้ ตึก สตง. พังถล่มลงมาเพียง 8 วินาที ท่ามกลางการตั้งคำถามของคนในสังคมในหลายทิศทาง
โดยนายดวงฤทธิ์ อธิบายว่า ระบบการทำงานปกติการสร้างวตึกที่ไม่ใช่ตึกราชการ จะมี 3 ส่วนทำงานร่วมกัน คือผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้ก่อสร้าง เวลาก่อสร้างผู้ควบคุมงานจะต้องตรวจสอบว่าสร้างตามแบบหรือไม่ เวลามีอะไรไม่แน่ใจว่าสร้างตามแบบหรือเปล่า เขาก็จะต้องไปถามผู้ออกแบบด้วย
แต่กรณีตึกราชการไม่ใช่แบบนี้ เพราะราชการแบ่งเลยว่าผู้ออกแบบจบที่การออกแบบ ส่งแบบเสร็จแล้วห้ามเดินเข้ามาในไซต์งาน ทั้งที่ตามหลักการทำงานมันควรจะให้ผู้ออกแบบช่วยดูด้วย แต่ราชการออกแบบระบบการทำงานว่าให้ผู้ควบคุมงานดูแล สถาปนิกไม่ต้องไป จัดการกฎหมายตั้งแต่ค่าใช้จ่ายของสถาปัตย์จบแค่การส่งแบบ แต่งานตอนก่อสร้างก็จะเป็นเงินของผู้ควบคุมงาน ซึ่งระบบราชการถูกออกแบบมาให้คอร์รัปชัน
นอกจากนั้นแล้วตึกราชการที่สร้างไม่ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง แค่แจ้งให้ทราบ ซึ่งตึกราชการส่วนใหญ่ก็จะจ้างเอกชนออกแบบอยู่แล้ว เพราะกรมโยธาธิการทำไม่ไหว แต่กลายเป็นว่าตึกที่สร้างไม่มีคนตรวจสอบ ไม่มีการยื่นแบบเพื่อให้กทม.ตรวจสอบ อำนาจทั้งหมดจึงอยู่ที่ผู้ควบคุมงาน ซึ่งจะเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย ซึ่งหากผู้รับเหมาไม่สร้างตามแบบ แต่ผู้ควบคุมงานเซ็น เขาก็สร้างตามนั้น
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจะต้องพุ่งไปที่คนควบคุมงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล็ก หรือเรื่องปูน ผู้ควบคุมงานจะเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตาย สมมติว่ามีการลดขนาดโครงสร้างบางอย่างคนที่เซ็นก็จะเป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งจริงๆแล้วการก่อสร้างไม่ควรลดขนาดจากการออกแบบ เพราะคนออกแบบเขาก็จะมีจรรยาบรรณในการทำงาน ต้องคำนวณมาแล้วจึงไม่มีเหตุให้ต้องลด ดังนั้นหากมีการลดขนาดก็จะต้องมีคนควบคุมงานเป็นคนเซ็น ซึ่งยืนยันว่าคนออกแบบเขาคงไม่มีทางออกแบบให้ชั่วร้าย
ส่วนขั้นตอนแก้แบบนั้น ตามโครงการทั่วไปผู้รับเหมาก่อสร้างจะขอแก้แบบนั้นยากมาก ยกเว้นมีเหตุจริงๆ กรณีออกแบบมาแล้วก่อสร้างไม่ได้ แต่ปกติไม่มีใครอยากแก้ ทั้งนี้ส่วนมากคนเดียวที่จะสั่งแก้แบบได้ก็คือเจ้าของโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นการขอลดชั้น หรือปรับปรุงภายใน แต่ไม่มีใครไปแก้เรื่องโครงสร้างพวกเสา พวกปล่องลิฟต์ ส่วนการแก้แบบแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงได้เยอะหรือก้อนใหญ่ที่สุดก็คือแก้โครงสร้าง
“ความรุนแรงของมันมากกว่าเป็นเรื่องวัสดุ คือต่อให้คุณใช้เหล็กผิดไปส่วนหนึ่งมันก็ไม่น่าจะพังได้ขนาดนี้ แต่นี่คือพังแบบสมบูรณ์แบบเลย ซึ่งต้องเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง อันนี้โครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหานี้มันเกิดที่ตอนออกแบบหรือตอนก่อสร้าง แต่ผมเชื่อว่าปัญหาเกิดจากตอนออกแบบเป็นเรื่องที่ยากเพราะไม่มีวิศวกรคนไหนกล้าออกแบบให้มันพัง แต่ระหว่างก่อสร้างอะไรเกิดขึ้นระหว่างนี้เราไม่รู้”
ส่วนกรณีลายเซ็นผู้ควบคุมงานปลอมนั้น การออกแบบตึกปกติต้องยื่นแบบต่อ กทม.และต้องนำชื่อผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงานส่งไปด้วย และต้องมีการขอเอกสารจากสภาสถาปนิกเพื่อรับรองว่าเป็นมีตัวตนจริง ซึ่งจะมีระบบแบบนี้ล็อกไว้อยู่แล้ว แต่ยกเว้นตึกราชการที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อไม่ต้องยื่นขออนุญาติ ก็เลยไม่รู้ว่าผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงานมีตัวตนจริงหรือเปล่า นอกจากนั้นยังมีการออกแบบระบบมาให้คอร์รัปชัน เพราะต้องไล่ตั้งแต่คนเรียกรับเงินคนแรกที่เป็นต้นตอวงจรอุบาทว์ ซึ่งไม่มีงานราชการไหนเลยในประเทศไทยที่ผู้รับเหมาจะได้งานโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ได้งาน
ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตุว่ามีการแก้แบบจนปล่องลิฟต์ไม่อยู่กึ่งกลางตึก จนเป็นเหตุให้ตึกถล่มหรือไม่นั้น ตึก 90% ของกทม.ก็เป็นหมด ซึ่งไม่ได้เรื่องที่จะเป็นปัญหา
“ถ้าไม่ใช่สตง.มันจะไม่ขำนะ คือถ้าเป็นหน่วยงานรัฐอื่นๆยังเข้าใจได้ว่าเขาไม่รู้เรื่อง แต่ สตง.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคนอื่น แต่ตัวเองไม่ได้ตรวจสอบตนเอง ดังนั้นก็กลายเป็นว่าไม่มีใครตรวจสอบองค์กรอิสระ และนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า ระบบราชการมันก็มีความวิบัติของมันอยู่แล้ว มันไปเจอกับหน่วยงานซึ่งมีอำนาจมากกว่าหน่วยงานราชการปกติอีก และนี่จะตรวจไม่เจอหรือ แล้วที่ผ่านๆ มาตรวจคนอื่นละเอียดเลยนะ”
เมื่อถามถึงกรณีปลอมลายเซ็นวิศวกรผู้ควบคุมงานนั้น จะเป็นการที่บริษัทอุปโลกน์ขึ้นมาเองเลยหรือไม่ นายดวงฤทธิ์ บอกว่าก็เป็นเรื่องที่สภาสถาปนิก สภาวิศวกรต้องไปตรวจสอบ แต่ตนคิดว่าในทางกฎหมายเป็นเรื่องผิดร้ายแรงมาก หากบริษัทที่ก่อสร้างแล้วไปทำเรื่องแบบนี้จริงถือว่าเลวมาก และต้องติดคุกหลายตลบ เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แต่ถามว่าเคยเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไหม ตอบเลยว่ามี ก็จะเคยเห็นการร้องเรียนไปที่สภาวิชาชีพก็จะเป็นคนจัดการ แต่หากหาตัวคนควบคุมงานตัวจริงไม่ได้ สตง.ก็ต้องเป็นคนรับเต็มๆ
ส่วนเรื่องการซื้อขายลายเซ็นต์วิศวกรนั้น นายดวงฤทธิ์ บอกว่า ตนไม่เคยขายและไม่เคยซื้อ แต่จะมีกรรีที่ผู้ออกแบบไปพูดคุยกับวุฒิสภาวิศวกร เพื่อรับรองตรวจสอบให้ แต่ต้องไปอธิบายเพื่อให้วุฒิสภาวิศวกรช่วยตรวจสอบ ซึ่งกรรีแบบนี้มี แต่เรื่องการซื้อขายลายเซ็นตนไม่รู้ แต่เคยมีคนเล่าให้ฟัง ส่วนเรื่องปลอมลายเซ็นก็มีกรณีเคยเกิดขึ้นจริง
“สิ่งที่อยากเรียกร้องคือว่า ตึกของราชการกรุณาส่งขออนุญาตเหมือนชาวบ้านได้ไหม อันนี้มันจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เคส สตง.อาจจะไม่เกิด หากมีการขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมาย เพราะมันจะมีคนตรวจสอบอีกที่หนึ่ง คนจะทำผิดก็ไม่กล้าทำผิด คนจะสร้างผิดจากแบบก็ต้อง ยื่นแบบให้กทม.ใหม่ ทำให้กระบวนการยากขึ้นในการแก้ไข คอร์รัปชันก็ยากขึ้น”
เมื่อถามถึงประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างบางรายการที่ถูกมองว่าหรูหราและฟุ่มเฟือยแต่หน่วยงานรัฐอ้างว่าผู้ออกแบบก่อสร้างเสนอมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ นายดวงฤทธิ์ บอกว่า มันต้องมาจากเจ้าของโครงการอยู่แล้ว ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมันมีราคากลางอยู่ ก็ตรวจสอบได้ แต่มีการละเว้นไม่ตรวจหรือถูกจัดซื้อแล้วไม่ได้อ้างอิงราคากลาง ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับผู้ออกแบบ แต่คนจัดซื้ออยากซื้อราคานี้ผู้ออกแบบไม่เกี่ยว แต่ประเด็นคือเรื่องนี้มาจากใบเสนอราคา แต่จริงๆแล้วต้องถามว่ามีการซื้อมาหรือยัง ถ้าซื้อแล้วของเหล่านี้ไปอยู่ไหน ถ้าเป็นแค่ใบเสนอราคาเขาก็อาจจะอ้างได้ว่ายังไม่ซื้อ และความผิดยังไม่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่าวันนี้มีการสอบประเด็นนอมินีบริษัทจีนนั้น นายดวงฤทธิ์ บอกว่า อย่าเพิ่งไปโทษเขา เพราะเขาต้องก่อสร้างตามแบบ เพราะถ้าไม่สร้างตามแบบคณะกรรมการตรวจการจ้างก็จะไม่จ่ายเงิน ซึ่งไม่มีทางที่ผู้รับเหมาจะลดขนาดเอง เพราะคนควบคุมงานเป็นคนตรวจสอบ ถ้าโครงสร้างถูกลดเสปกทั้งตึกผู้ควบคุมงานต้องรู้