ตัวอย่างการเกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่ในอิสราเอล" แม้สายพันธุ์เดลตากำลังระบาด

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ตัวอย่างการเกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่ในอิสราเอล" แม้สายพันธุ์เดลตากำลังระบาด หลังก่อนหน้านี้ระดมฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ให้กับประชาชนครบแล้ว 2 โดส

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ในอิสราเอล หลังก่อนหน้านี้ หลายคนได้ข้อมูลเรื่อง สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ระบาดในอิสราเอลทำนองว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีน mRNA ไปมากแล้วก็ยังมีการระบาด แถมผู้ติดเชื้อ 50% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว

โควิด-19 “เดลตา” เป็นเหตุ อิสราเอลกลับมาสั่งใส่หน้ากากอนามัยในอาคาร

เจาะแผนอิสราเอล "เลิกสวมหน้ากากอนามัย" หลังฉีดวัคซีนโควิดประสบความสำเร็จ

สำหรับข่าวข้างต้นคนที่เข้าใจเรื่องโรคระบาดและข้อมูลทางวิชาการดี จะรู้ทันทีว่านี่ไม่ใช่ข่าวร้าย แต่เป็น "ข่าวดี"  ต่างหากเพราะ

การระบาดรอบใหม่ของอิสราเอลจากสายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจากไม่กี่สิบรายต่อวัน กลายเป็นหลักร้อยในวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 290-300 รายต่อวัน

ข่าวนี้แสดงว่าวัคซีนที่ปูพรมฉีดเป็นวงกว้างนั้นไม่ได้ผลหรือไม่ คำตอบคือ ได้ผลและได้ผลดีมากด้วย 

ถ้าเราย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2020 ต่อต้นปี 2021 ในขณะที่อิสราเอลมีการระบาดของ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ทั้งประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่วันละหลายพันราย บางวันทะลุหมื่นราย จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาด และตามด้วยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ปูพรมทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว จนทำให้การระบาดสงบได้และทยอยเปิดเมืองทีละขั้น จนอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องใส่หน้ากาก และสามารถทำกิจกรรมรวมคนหมู่มากได้ มีวิถีชีวิตใกล้เคียงปกติ

และเมื่อดูสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน เราทราบดีว่า สายพันธุ์เดลตา นั้น มีความสามารถในการแพร่ระบาดดีกว่าสายพันธุ์อัลฟามาก และ ยังดื้อต่อวัคซีนด้วย

เรากลับไม่เห็นอัตราเร่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบเดิมอีก ในขณะที่ผู้คนยังคงใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม มีการปรับมาตรการให้ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในอาคารหรือสถานที่ปิด และเลื่อนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม

ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเป็นผลจากการเกิด ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่เราอยากเห็น แต่อย่าเข้าใจผิด ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ไม่ได้แปลว่าต้องไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงขึ้น การติดเชื้อยังเกิดได้อยู่ และผู้ที่ได้วัคซีนบางคนก็ยังอาจติดเชื้อได้

แต่ใน diagram ในภาพด้านบน ขวามือล่าง จะเห็นว่า เมื่อในสังคมหรือชุมชนมีสัดส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเป็นจำนวนมากแล้ว การระบาดของโรคจะเกิดได้ยากขึ้นมาก จำนวนผู้ติดเชื้อจะถูกจำกัดวง มีจำนวนไม่มากนัก และมักเกิดในผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีนเป็นส่วนใหญ่ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นต่างหาก

 

 

อีกประเด็นที่ต้องชี้ให้เข้าใจ คือการเห็นข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ราวครึ่งนึงเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ข่าวนี้แปลว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงมากจนกันแทบไม่ได้แล้วหรือไม่ ... 

คำตอบคือ "ไม่" วัคซีนยังมีประสิทธิภาพสูงมาก เรื่องนี้เราเรียกว่า base rate bias ตามภาพด้านบน แม้การนับจำนวนผู้ติดเชื้อจะพบว่าเท่ากันระหว่างคนที่ได้รับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้วัคซีน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบซึ่งสูงมากในอิสราเอล จะเห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก ข้อมูลจากการระบาดปัจจุบัน คำนวณได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป่วยจากสายพันธุ์เดลตาน่าจะอยู่ที่ราว 85%

และเมื่อดูที่สหราชอาณาจักรประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเช่นกัน และควบคุมการระบาดจากสายพันธุ์อัลฟาได้ดี เหตุใดจึงเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลตาจนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงมากต่างจากอิสราเอล

สาเหตุสำคัญน่าจะมาจาก วิธีการกระจายวัคซีนที่ต่างกัน 

สหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่างของประเทศที่เลือกระดมฉีดวัคซีน "เข็มแรก" ไปก่อนให้กว้างขวางที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อสกัดการระบาดเมื่อตอนปลายปีจนถึงต้นปีนี้ และสามารถควบคุมการระบาดของสายพันธุ์อัลฟาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากทั้ง ไฟเซอร์ และ แอส ตร้าเซเนก้า เพียงเข็มเดียว แม้จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันบางส่วน (partial immunity) แต่ก็ เพียงพอ ต่อการยับยั้ง สายพันธุ์อัลฟา ได้ดี

ในขณะที่ สายพันธุ์เดลตา นั้นไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ จำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม (full immunity) โดยเร็ว ข้อมูลนี้สอดคล้องไปกับผลการทดสอบ immune evasion ในห้องปฏิบัติการที่พบว่า NAb จากผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียวไม่เพียงพอต่อการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์เดลตา จำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม แต่การมี partial immunity ของสหราชอาณาจักรยังมีประโยชน์ในแง่อัตราการป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้เพิ่มตามอัตราการติดเชื้อ

ในขณะที่อิสราเอลนั้น ยึดถือการฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ตามข้อมูล phase 3 trial ประชาชนส่วนใหญ่จึงมีภูมิคุ้มกันหมู่อย่างเต็มที่ (full immunity) และสามารถสกัดการระบาดของ สายพันธุ์เดลตา ได้ดีกว่า 

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ทิ้งท้ายว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ( herd immunity ) ที่สามารถ หยุดหรือลดทอน การแพร่ระบาดได้จริง และการใช้วัคซีนที่ ประสิทธิภาพสูงมาก สามารถรับมือการระบาดต่อสายพันธุ์ที่ดื้อและแพร่เร็วอย่าง สายพันธุ์เดลตา ได้ดีทีเดียว

แน่นอนว่า ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ของอิสราเอลจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่ข้อมูลการระบาดที่ผ่านมา น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงบ้านเราด้วยว่า วัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ช่วยหยุดการระบาดได้ดี และการปูพรมวัคซีนเป็นวงกว้าง ช่วยสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity effect) ได้

แม้จะยังไม่ดีนักเนื่องจากสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิยังไม่สูงพอ (ขณะนี้สัดส่วนของประชากรอิสราเอลที่ได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 65%) คงจะต้องใช้เวลาอีกซักพัก แต่เราเห็นผลของมันได้แล้วจริง ๆ และหวังว่าคำอธิบายนี้ จะช่วยทำให้คนอ่านข่าวอิสราเอลเข้าใจได้มากขึ้น และช่วยกันแก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้องกันครับ

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ