55 อาการเรื้อรัง "ลองโควิด" (Long Covid) หลังหายป่วยโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิจัยพบ หลังหายป่วยโควิด-19 มีโอกาสเกิดลองโควิด “Long COVID” หรืออาการเรื้อรังหลังหายป่วยมากกว่า 80% พบมีทั้งหมด 55 อาการ คนหนึ่งอาจพบเพียง 1-2 อาการ

รายงานทางวิทยาศาสตร์ของวารสาร Nature ได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลฮูสตัน เมธอดิสต์ สหรัฐฯ ระบุว่า เนื่องจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลโควิด-19 ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่แม้หายดีจากโควิด-19 เป็นเวลานานแล้วก็ตาม

โดยลักษณะดังกล่าวเรียกว่า “ลองโควิด (Long COVID)” เป็นอาการที่หลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ลักษณะอาการอาจเหมือนหรือคล้ายกับช่วงที่ติดโควิด-19 แต่บางคนก็อาจมีอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เลยก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

LONG COVID อาการต่อเนื่องของคนเคยป่วยโควิด ที่ไม่ควรมองข้าม

อัปเดต "ภาวะ Long COVID" ทั้งเกิดขึ้นใหม่และเป็นต่อเนื่อง หลังติดเชื้อโควิด-19

ดร.โซเนีย วิลลาพอล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมประสาทที่โรงพยาบาลฮูสตัน และทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 48,000 ราย พบผลกระทบระยะยาวหลังหายป่วยโควิด-19 มากถึง “55 อาการ”

อาการที่พบบ่อยที่สุดเหล่านี้มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลยาวตั้งแต่หลักหลายสัปดาห์จนถึงหลักหลายเดือนหลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด 10 อันดับแรกคือ

  • เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (58%)
  • ปวดศีรษะ (44%)
  • สมาธิสั้น (27%)
  • ผมร่วง (25%)
  • หายใจลำบาก (24%)
  • สูญเสียการรับรสชาติ (23%)
  • สูญเสียการรับกลิ่น (21%)
  • หายใจถี่ (21%)
  • ปวดตามข้อ (19%)
  • ไอ (19%)

นอกจากนี้ยังอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคปอด เช่น รู้สึกไม่สบายหน้าอก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และการเกิดพังผืดในปอด และพบปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกล้ามเนื้อหัวใจตาย และปัญหาอื่น ๆ เช่น หูอื้อและเหงื่อออกตอนกลางคืน นักวิจัยรู้สึกประหลาดใจที่พบอาการทางระบบประสาทหลายอาการด้วย เช่น ภาวะสมองเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำ

งานวิจัย เผยระดับแอนติบอดีในผู้ป่วย อาจกำหนดว่า ใครเป็น “Long Covid”

พบ “ภาวะลองโควิด (Long COVID)” อาจคงอยู่แม้หายจากโควิด-19 แล้ว 1 ปี

เพื่อประเมินผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 ทีมวิจัยใช้วิธีรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ทั้งหมด 18,251 ฉบับ โดยพบ 15 ฉบับมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกสำหรับนำมาศึกษา โดยที่เลือกมาเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการในสหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน อียิปต์ และเม็กซิโก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ใหญ่อายุ 17-87 ปีทั้งหมด

การศึกษารวบรวมข้อมูลจากการให้ผู้ป่วยทำแบบประเมินสำรวจตนเอง เวชระเบียน และการประเมินทางคลินิก โดยใช้เวลาติดตามผลหลังหายจากโควิด-19 ตั้งแต่ 14-110 วัน โดย 40% ของการศึกษาเป็นผู้ป่วยที่ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง อาการปานกลาง และอาการรุนแรงแต่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล

ทีมวิจัยได้ดำเนินการทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมานการศึกษาเหล่านี้ เพื่อประเมินความชุกของอาการที่ผิดปกติทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังหายป่วยจากโควิด-19 พวกเขาพบว่า 80% ของผู้ใหญ่ที่หายป่วยจากโควิด-19 จะต้องมีอาการลองโควิดอย่างน้อย 1 อาการเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแสดงอาการเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง

นักวิจัยกล่าวว่า ผลกระทบที่คงอยู่หลังหายป่วยโควิด-19 แบบเดียวกันนี้ในเกิดขึ้นหลายประเทศ การศึกษาของพวกเขายืนยันว่า ภาวะของลองโควิดนั้นมีอยู่จริง และเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการติดตามการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังเหล่านี้ ต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนและกำหนดกลยุทธ์การรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบระยะยาวจากโควิด-19

นักวิจัยกล่าวว่า ในขั้นต่อไปพวกเขาจะเน้นไปที่การศึกษาว่า อะไรทำให้บุคคลบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิดเป็นเวลานาน

สำหรับอาการทั้ง 55 อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังหายจากโควิด-19 ประกอบด้วย

ลักษณะอาการที่ผิดปกติทางคลินิก

  1. เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (58%)
  2. ปวดศีรษะ (44%)
  3. สมาธิสั้น (27%)
  4. ผมร่วง (25%)
  5. หายใจลำบาก (24%)
  6. สูญเสียการรับรสชาติ (23%)
  7. สูญเสียการรับกลิ่น (21%)
  8. หายใจถี่ (21%)
  9. ปวดตามข้อ (19%)
  10. ไอ (19%)
  11. เหงื่อออก (17%)
  12. คลื่นไส้หรืออาเจียน (16%)
  13. ปวดหน้าอก (16%)
  14. สูญเสียความทรงจำ (16%)
  15. สูญเสียการได้ยินหรือหูอื้อ (15%)
  16. ภาวะวิตกกังวล (13%)
  17. ภาวะซึมเศร้า (12%)
  18. ความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร (12%)
  19. น้ำหนักลด (12%)
  20. สัญญาณโรคผิวหนัง (12%)
  21. อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักสูงขึ้น (11%)
  22. ใจสั่น (11%)
  23. อาการปวด (11%)
  24. ไข้เว้นระยะ (11%)
  25. ความผิดปกติในการนอนหลับ (11%)
  26. ความจุก๊าซของปอดลดลง (10%)
  27. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (8%)
  28. หนาวสั่น (7%)
  29. ปัญหาสุขภาพจิต (7%)
  30. โรคทางจิตเวช (6%)
  31. ตาแดง (6%)
  32. เกิดพังผืดที่ปอด (5%)
  33. โลหิดแล่นไม่ต่อเนื่อง (5%)
  34. เบาหวาน (4%)
  35. มีเสมหะ (3%)
  36. อาการบวมน้ำที่แขนขา (3%)
  37. อาการวิงเวียนศีรษะ (3%)
  38. สโตรก (3%)
  39. เจ็บคอ (3%)
  40. ภาวะอารมณ์ผิดปกติ (2%)
  41. ภาวะทุกข์ใจ (2%)
  42. OCD (2%)
  43. ความดันโลหิตสูง (1%)
  44. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (1%)
  45. ภาวะไตวาย (1%)
  46. PTSD (1%)
  47. หัวใจเต้นผิดจังหวะ (0.4%)
  48. ภาวะหวาดระแวง (0.3%)

ความผิดปกติการทดสอบในแล็บและการทดสอบอื่น ๆ

  1. ผลเอ็กซ์เรย์/ซีทีสแกนผิดปกติ (34%)
  2. ระดับ D-dimer สูง (ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการวินิจฉัยภาวะอุดตันของเส้นเลือดดำ ภาวะอุดตันของเส้นเลือดในปอด) (20%)
  3. ระดับ NT-proBNP สูง (ตัวบ่งชี้ที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว) (11%)
  4. ระดับ C-reactive protein สูง (ตัวบ่งชี้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ) (8%)
  5. ระดับ Serum Ferritin สูง (ตัวบ่งชี้ปริมาณธาตุเหล็กสะสมในร่างกาย) (8%)
  6. ระดับ Procalcitonin สูง (ตัวบ่งชี้การติดเชื้อแบคทีเรีย) (4%)
  7. ระดับ IL-6 สูง (ตัวบ่งชี้การอักเสบในร่างกาย เช่น ตับอักเสบ) (3%)

 

เรียบเรียงจาก Nature / News Medical

ภาพจาก Getty Image

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP สุขภาพ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ