น.ส.แพรว อาศัยอยู่ จ.ตราด โพสต์รูปภาพลงในทวิตเตอร์ ระบุข้อความว่า ได้พูดคุยกับมิจฉาชีพซึ่งอ้างว่ามีสิทธิ์วัคซีนโมเดอร์นา ไปโพสต์ขายในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า "กลุ่มผู้ซื้อวัคซีนโมเดอร์นา" ที่มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งโพสต์ว่า ปล่อยสิทธิ์โมเดอร์นา แบบ Full Dose 2 สิทธิ์ ประมาณคิวที่ 300 และ 7,000
น.ส.แพรว เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ต้องการซื้อสิทธิ์ให้กับพ่อแม่ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและเห็นว่าได้เป็นคิวแรกๆ จึงรีบติดต่อไป
ลูกค้าโวย โดนเท “โมเดอร์นา” รพ.เอกชน แจงถูกตัดโควต้าทุกแห่ง แบ่งสภากาชาด 1 ล้านโดส
เปิดขั้นตอนจอง-ชำระเงินฉีดวัคซีน “โมเดอร์นา” ผ่านรพ.เอกชน
ซึ่งทางผู้ขายแจ้งว่าตอนนี้เหลือแค่ 1 สิทธิ์แล้ว ราคา 2,500 บาท สามารถฉีดได้กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจรับสิทธิ์และโอนเงินไปทันทีโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล
จากนั้นเธอรับการแจ้งกลับมาว่าจะทำเรื่องโอนสิทธิ์ให้ในวันที่ 1 พ.ย. แต่เมื่อไปเช็คข้อมูลจากโรงพยาบาลพบว่าโรงพยาบาลให้โอนสิทธิ์ในวันที่ 3 พ.ย. จึงรู้สึกเอะใจกลับไปจะสอบถามกับผู้ขายแต่ไม่สามารถติดต่อได้
น.ส.แพรว บอกอีกว่า หลังจากเธอโพสต์เรื่องราวนี้ไปในทวิตเตอร์ก็มีผู้หลงเชื่ออีก 5-6 คน ทักมาสอบถามข้อมูลโดยพบว่ามิจฉาชีพเป็นคนเดียวกันและได้ไปโพสต์ขายสิทธิ์อีกในเฟซบุ๊กอีกหลายกลุ่ม
ขณะที่ทีมข่าวตรวจสอบในโลกออนไลน์พบว่า #ขายสิทธิ์ Moderna ในทวิตเตอร์ยังได้รับความนิยม รวมทั้งในกลุ่มเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็มีหลายกลุ่มที่มีการโพสต์ซื้อขายสิทธิ์ และแลกคิวฉีด บางกลุ่มมีสมาชิกหลักหมื่น
ด้าน ผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์นาไว้และต้องการขายสิทธิ์จริง อย่าง น.ส.กมลวรรณ ภาสวร ผู้จัดการบริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ที่เปิดเผยกับทีมข่าวว่า เธอจองวัคซีนโมเดอร์นาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม จำนวน 21 โดส กับ 4 โรงพยาบาล รวมเป็นเงิน 69,300 บาท หวังว่าจะได้ฉีดให้กับพนักงาน แต่ด้วยระยะเวลาที่ต้องรอวัคซีนค่อนข้างนานจึงต้องให้พนักงานฉีดวัคซีนที่รัฐมีให้ไปก่อน จนตอนนี้ ได้รับวัคซีนครบทั้งหมดแล้ว
เมื่อทราบว่ามีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นามาแล้วเธอจึงได้ประกาศขายสิทธิ์บางส่วนเพราะมีคนติดต่อขอซื้อ แต่ก็ต้องยกเลิกเพราะเมื่อตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลที่จองไว้ พบว่า แต่ละโรงพยาบาลรับการจัดสรรวัคซีนในจำนวนจำกัดทำให้ไม่ถึงคิวที่ตัวเองไว้ จึงไม่สามารถขายสิทธิ์ดังกล่าวให้กับคนที่ต้องการได้
น.ส.กมลวรรณ บอกอีกว่า หากในช่วงแรกหากรัฐบาลจัดการวัคซีนได้รวดเร็วกว่านี้ประชาชนก็ไม่ต้องไปจ่ายเงินเพื่อจองวัคซีนเอง และไม่ต้องมาโอนสิทธิ์หรือขายสิทธิ์กันเอง เพราะจะเกิดความยุ่งยากและเสี่ยงต่อการเปิดช่องให้มิจฉาชีพเข้ามาหาผลประโยชน์ได้ง่าย มองว่าโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่จัดสรรวัคซีนควรรับซื้อสิทธิ์คืนหรือสามาถให้ประชาชนเก็บสิทธิ์ไว้ให้นานมากขึ้นเพื่อเป็นเข็มที่ 4 หรือ เข็มที่ 5
ขณะเดียวกัน นพ. ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีถึงสาเหตุที่ไม่สามารถรับซื้อสิทธิ์คืนได้ เป็นเพราะหากผู้จองขายสิทธิ์คืนให้โรงพยาบาลในราคาเต็มและโรงพยาบาลนำมาขายต่อให้คนที่ต้องการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และจะทำให้ขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ซับซ้อนขึ้น และมีความเสี่ยงหากซื้อคืนมาแล้วแต่วัคซีนเหลือและหมดอายุ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายรับซื้อคืน
ส่วนเรื่องการโอนสิทธิ์ให้บุคคลอื่นที่ไม่ต้องการฉีดโมเดอร์นาแล้ว เพื่อลดช่องโหว่และลดปัญหาในการถูกโกง นพ.ไพบูลย์ ระบุว่า โรงพยาบาลสามารถเป็นตัวกลางในการประสานให้ผู้โอนและผู้ซื้อทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อโอนสิทธิ์และจ่ายเงินให้ผู้ขายทันที โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดำเนินการให้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาลว่าจะใช้วิธีการแบบนี้หรือไม่