ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถแทงทะลุกเหงือกขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติ หรืออาจโผล่ออกมาได้เพียงบางส่วนในลักษณะที่ผิดรูปจากฟันปกติ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบว่า ฟันคุดจะฝังอยู่บริเวณขากรรไกรและฟันที่มักเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือฟันกรามล่างซี่สุดท้ายซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 - 25 ปี แต่ฟันซี่อื่นก็สามารถคุดได้เช่นกัน อาทิ ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย
ทันตแพทย์แนะพ่อแม่ ดูแลสุขภาพฟันเด็กให้ดีในระหว่างเรียนออนไลน์
เศร้าหนัก! สาวผ่าฟันคุดโดนเครื่องกรอฟันทับมุมปากจนไหม้
เตือนจัดฟันแฟชั่นหมอเถื่อน เสี่ยงติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิต
ซึ่งหากเราพบฟันคุดอยู่ในช่องปาก ไม่ว่าส่วนใดจะมีอาการปวดหรือไม่ก็ตาม แต่ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าออกนั้นเป็นเพราะ เหตุผลดังต่อไปนี้
1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน
เนื่องจากอาจมีเศษอาหารเข้าไปติดใต้เหงือก แล้วทำความสะอาดไม่ทั่วถึง จนทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบได้ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ
ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก
แรงดันจากฟันคุดที่ พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
4. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก
ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
5. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก
เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
6. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่ สาม ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ
สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดฟันคุด สามารถทำได้ด้วยการไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจและเอกซเรย์ฟันก็จะทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยผ่าฟันคุดออกเสียก่อนที่จะมีอาการปวดบวม หรือทำให้ฟันข้างเคียงมีปัญหา การผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย (18 - 25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำ เพราะฉะนั้นมีฟันคุดแล้วอย่ารั้งรอ รีบผ่าตัดออกเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดผลเสียในภายหลัง
ที่มา
ทพ.นิวัฒน์ พันธุ์ไพศาล งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช