“เอชไอวี” และ “เอดส์” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เอชไอวี” และ “เอดส์” ว่าเป็นโรคเดียวกัน ยังรวมถึงการติดเชื้อและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
โดยวันนี้ จะพาไปทำความเข้าใจ ในข้อแตกต่าง ระหว่าง “เอชไอวี” และ “เอดส์”
ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เตือนกิน “ยาเพร็พ” ไม่ใช้ถุงยาง เสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น
"ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์" ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม
เอชไอวี (HIV)
เชื้อเอชไอวี หรือ Human Immunodeficiency Virus (HIV) คือ ไวรัสที่จะเข้าไปกัดกินทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัด หลายคนจึงไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อไวรัส HIV เข้าไป ซึ่งจะเป็นอันตรายเมื่อไม่ได้รับการักษาที่ต่อเนื่อง และจะส่งผลให้เป็นโรคเอดส์ในที่สุด
เอดส์ (AIDS)
โรคเอดส์ หรือ Acquired Immunodeficiency Syndrome (AIDS) คือ กลุ่มอาการของการติดเชื้อโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีทำลายจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเหล่านี้ได้
กว่าเชื้อเอชไอวี จะกลายเป็นโรคเอดส์
เชื้อเอชไอวี สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ดังนั้นที่ผ่านมา เรามักจะเห็นการรณรงค์การมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน เพราะนอกจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังป้องกันเอชไอวีได้ด้วย ส่วนในน้ำลาย เสมหะและน้ำนมมีปริมาณเชื้อเอชไอวีน้อย สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระแทบไม่พบเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี จะมีอาการและความผิดปกติแบ่งเป็น 3 ระยะ
-ระยะติดเชื้อ เป็นระยะแรกหลังรับเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบปริมาณไวรัสสูงมาก
-ระยะสงบ ระยะนี้เชื้อยังคงอยู่ในร่างกายแต่มักไม่แสดงอาการไวรัสจะค่อย ๆ ทำลายเม็ดเลือดขาว และทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามในระยะนี้ยังสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ และหากไม่ได้รับการรักษา 7-10 ปี จะพัฒนาสู่ระยะเอดส์
-ระยะเอดส์ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะสูญเสียภูมิคุ้มกันโรคและจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจแล้วพบว่ามีอาการอยู่ในระยะที่ 1-2 แพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านไวรัส หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติควบคู่ไปกับการระวังไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นเพิ่มเติม
ศบค.เผย 1,007 รายมาจากแอฟริกา ผลตรวจเป็นลบ เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม สกัด "โอไมครอน"
สำรวจวัยรุ่นใช้ ‘ถุงยางอนามัย’ เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สม่ำเสมอ เหตุไว้วางใจแฟน
ดังนั้น โรคเอดส์ และ HIV ไม่ใช่โรคเดียวกันเพียงแต่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางอาการเท่านั้น ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องมีอาการเอดส์ หากรู้เร็วด้วย การตรวจเลือด และรักษาเร็วด้วยยาต้านไวรัส
ที่มา รพ.จุฬาลงกรณ์, สสส.