Plant-based diet การรับประทานพืชเป็นหลัก ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพและอนาคต

โดย BDMS Wellness Clinic

เผยแพร่

ทั่วโลกมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก OurWorldInData แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปี พ.ศ. 2560 ทั่วโลกมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 87 % และแนวโน้มยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

โดยวารสารการวิจัย Animals รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการบริโภคเนื้อสัตว์สูงถึง 100.9 กิโลกรัม/คน/ปี มากกว่าปริมาณเนื้อสัตว์ที่ U.S. Department of Agriculture แนะนำให้บริโภคเกือบสองเท่า  ผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป คือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคอ้วน และโรคมะเร็ง เป็นต้น 

สธ.ย้ำผู้ประกอบการแสดงรายการอาหารที่มี "กัญชา" แนะใช้ 1-2 ใบสดต่อเมนู

Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย “ยุคโควิด”

 

หมอแอมป์ - นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก เล่าให้ฟังว่า “ข้อมูลจาก The International Agency for Research on Cancer (IARC) หรือแผนกวิจัยเรื่องโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูปหรือ Processed meat เช่น ไส้กรอก เบอร์เกอร์ ซาลามี่ พาร์มาแฮม เบคอน กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ซึ่งมีอันตรายมากที่สุด อยู่ในกลุ่มเดียวกับสารหนู หรือ สารกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนียม ส่วนเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2A หรือ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์” 
เพราะในกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์ จะมีการเติม ‘ไนเตรท’ หรือ ‘ไนไตรท์’ เพื่อถนอมอาหาร ปรุงแต่งสีและรสชาติ แต่สารนี้สามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) อย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (N-nitroso-compounds; NOCs) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ได้ 
ในเนื้อแดงเองมีสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง หรือ ฮีม (Heme Iron) ซึ่งสามารถเร่งการสร้างสารก่อมะเร็งอย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (NOCs) ได้เช่นกัน รวมทั้งการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง เช่น การทอด การปิ้งย่าง ในอาหารประเภทเนื้อสเต็ก เบอร์เกอร์ หมูกระทะ สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจำพวก เฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (Heterocyclic Aromatic Amines; HAA) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ได้เช่นกัน 
คุณหมอแอมป์ให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า “ควรเริ่มจากการลดการบริโภคลง หรือบริโภคแต่น้อย”
ผลจากข้อมูลนี้ทำให้กระแสการดูแลสุขภาพด้วย การรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก หรือ Plant-based diet กำลังขยายตัว ข้อมูลจาก STATISTA แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาด Plant-based foods ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 มีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตจนมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570  
การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีความหมายกว้างกว่าการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติทั่วไป เคร่งครัดน้อยกว่าและไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพ จากการรับประทานผักหลากหลายชนิด ธัญพืชไม่ขัดสี เห็ดต่างๆหลายชนิด เลือกแหล่งโปรตีนจากเต้าหู้หรือถั่วหลากชนิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่างๆ 

 “โปรตีนจากพืชดีอย่างไร ทำไมเอามาแทนโปรตีนเนื้อสัตว์ มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ช่วยลดอัตราการก่อโรคได้มากมาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง” คุณหมอแอมป์ชี้ให้เห็นข้อดีของการรับประทานอาหารแบบ Plant based diet
การเปลี่ยนมารับประทานอาหารแบบ Plant-based diet จะช่วยลดไขมันอิ่มตัว เพิ่มใยอาหารและสารพฤกษเคมี (phytochemical) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบเฉพาะในพืช มีการศึกษามากมายที่รับรองว่า การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 
- ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการได้รับไขมันอิ่มตัวและระดับ TMAO (Trimethylamine N-oxide) จากเนื้อสัตว์น้อยลง 

งานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารจากพืช เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1998 ตีพิมพ์ลงในวารสาร The American Journal of Cardiology โดยคุณหมอ Ornish  ผู้ก่อตั้ง Preventive Medicine Research Institute คุณหมอทำการวิจัยเป็นแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) โดยดำเนินการพร้อมกัน 8 แห่ง จำนวนคนเข้าร่วม 333 คน เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง การรักษาด้วยการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน (Revascularization) และ การปรับพฤติกรรมแบบองค์รวม ตั้งแต่การรับประทานอาหารรูปแบบมังสวิรัติที่มีใยอาหารสูง น้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการจัดการกับความเครียด 
หลังจากติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานอาหารจากพืชเป็นหลักควบคู่กับการออกกำลังกาย ให้ผลการรักษาที่ดีไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ผ่าตัดเปิดหลอดเลือดอุดตัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนคือ กลุ่มที่ปรับพฤติกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรักษา ซึ่งน้อยกว่าถึง 4-7 เท่า จึงเห็นได้ว่าการปรับพฤติกรรมแบบองค์รวม ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยลงได้ 

คุณหมอ Lin แพทย์ประจำ Baylor College of Medicine และ คุณหมอ Esselstyn แพทย์ประจำ Cleveland Clinic ทำการศึกษาโดยแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่รับประทาน Plant-Based diet เป็นเวลา 4 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รับประทาน Plant-Based diet ค่าไขมันต่างๆ ในเลือดดีขึ้น ค่าสารอักเสบ hsCRP และ IL-6 ก็ลดลง รวมถึงการทำงานของหลอดเลือดดีขึ้น (brachial artery flow-mediated vasodilation) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม 

ส่วนคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ก็มีการศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of the American College of Cardiology ปี ค.ศ. 2017 ติดตามการรับประทานอาหารของผู้คน จำนวน 209,568 คน พบว่า การบริโภคพืชผักและธัญพืชไม่ขัดสี ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) ได้ถึง 25% อีกงานวิจัยหนึ่งจากวารสาร The BMJ ปี ค.ศ. 2020 วิจัยโดยคณะวิจัยจาก Harvard เช่นเดียวกัน ได้ติดตามการรับประทานอาหารของผู้ชาย 43,272 คน พบว่า การเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์แปรรูป 1 ส่วนบริโภคต่อวัน (85 กรัม) ให้เป็นโปรตีนจากพืช สามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 17 % 
•    ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 วารสาร Canadian Journal of Diabetes ในปี ค.ศ. 2016 รวบรวมการศึกษาวิจัยการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในคนที่รับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ทั้งหมด 13 งานวิจัย รวมจำนวนมากกว่า 60,000 คน พบว่า ทั้งการศึกษาแบบระบาดวิทยาที่เก็บข้อมูลเป็นระยะเวลายาวนาน หรือการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ก็ชี้ให้เห็นผลไปในทิศทางเดียวกันว่า อาหารจากพืชช่วยลดความเสี่ยงของเบาหวานได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง (Fasting Plasma Glucose) การหลั่งอินซูลินที่ดีขึ้น (Insulin secretion index) และความไวของอินซูลินที่ดีขึ้น (Insulin sensitivity) 
อีกงานวิจัยจาก JAMA internal medicine ปี ค.ศ. 2019 ทำการวิเคราะห์ผล 9 การศึกษาวิจัย จากคนรวมทั้งสิ้น 307,099 คน การรับประทานอาหารจากพืช สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ 23 % และงานวิจัยจากวารสาร International Journal of Medicine in Developing Countries ปี ค.ศ. 2020 ในคนจำนวน 69,213 คน จาก 5 การศึกษา พบว่า การรับประทานอาหารจากพืช ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1C; HbA1C) และลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้สูงถึง 57% 
- ลดความเสี่ยงโรคอ้วน ช่วยรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสม จากการลดปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์ และการรับประทานใยอาหารที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้สึกอิ่มท้องยาวนาน มีการศึกษาในผู้สูงอายุ 9,633 คน ตีพิมพ์ในวารสาร Epidemiology ปี ค.ศ. 2019  โดยจัดทำเป็นคะแนนการบริโภคพืชผัก รายงานว่าผู้สูงอายุที่มีคะแนนการบริโภคพืชผักเพิ่มขึ้น ทุก 10 คะแนน จะมีรอบเอวลดลง 2 เซนติเมตร และมีไขมันลดลง 1.1 % 
- ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด การรับประทาน Plant-based diet สามารถลดการได้รับสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดง รวมทั้งพืชยังอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ 

ในปี ค.ศ. 2018 รายงานจาก World Cancer Research Fund (WCRF) ร่วมกับ American Institute for Cancer Research (AICR) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้ติดตามการรับประทานอาหารในคนที่ไม่พบมะเร็งจำนวน 41,543 คน เป็นระยะเวลา 8 ปี พบว่าการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก โดยเลือกรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ผักและผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ร่วมกับลดการรับประทาน น้ำตาล ไขมัน เนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งทุกชนิดลดลง 12% ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม รวมถึงการลดการเกิด NCDs และโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งอีกหลายชนิด

งานวิจัยในชาวแคนาดา ปี ค.ศ. 2015 ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nutrition Journal เปรียบเทียบรูปแบบการรับประทานอาหารในคน 1,179 คน การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) 45 % 

วารสาร Scientific Reports ของ Nature ได้รายงานการวิจัย การเกิดมะเร็งเต้านม เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่การรับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้สด เป็นต้น กับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักเช่นกัน แต่มักเป็นอาหารกลุ่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวแป้งที่ขัดสี น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ในผู้ที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพ ชี้เห็นว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ถึง 67 % เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
- เพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในร่างกาย สารพฤกษเคมีต่างๆในพืช มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเกิดสารอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs)
- เสริมความแข็งแรงของแบคทีเรียในลำไส้ (probiotics) ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ใยอาหารช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ปกป้องทางเดินอาหาร ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย 
- ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไต เพราะการรับประทานโปรตีนจากสัตว์มีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ลดลงและการเกิดโรคนิ่วในไต

การศึกษารูปแบบการรับประทานอาหารในผู้หญิง 3,121 คน ในปี ค.ศ.2012 ตีพิมพ์ลงในวารสาร American Journal of Kidney Diseases พบว่า กลุ่มที่รับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อแดง ข้าวแป้งขัดสี และของหวานในปริมาณมาก มีความเสี่ยงต่อการขับโปรตีนอัลบูมินออกมาในปัสสาวะ (Microalbuminuria) สูงกว่าถึง 2.17 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ค่อยรับประทานประเภทนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานของไตที่เสื่อมถอยลง ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 วารสาร Journal of Nephrology ตีพิมพ์การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารหลัก กับโรคไตเรื้อรัง (อัตราการกรองของไต 60 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารารางเมตร) พบว่า การรับประทานโปรตีนจากพืชในปริมาณสูง ช่วยลดความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังได้ 30% ในทางกลับกันถ้าบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากกว่าโปรตีนจากพืช ประมาณ 2 เท่า จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 28 % 

สหรัฐฯ เตรียมสร้างไซโลที่ชายแดนยูเครน เพื่อช่วยส่งออกอาหาร-ธัญพืช

“ประยุทธ์”ห่วงเด็ก-สตรีมีครรภ์ วอนร้านอาหาร แจงส่วนผสมกัญชาในอาหาร

การศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 420 คน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Kidney International Reports ปี ค.ศ. 2019 พบว่า ผู้ที่รับประทานโปรตีนจากพืชในปริมาณสูง สามารถลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนทางไตได้ถึง 53 % ในขณะที่ผู้รับประทานโปรตีนจากสัตว์ในปริมาณสูง จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นอีก 6 % 
 


จากงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรับประทาน Plant-based diet ต่อสุขภาพ และเพื่อให้ได้รับสารอาหาร และกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด ผู้ที่รับประทาน Plant-based diet ควรรับประทานโปรตีนจากพืชให้หลากหลายชนิด “เช่น กินข้าวคู่กับถั่ว เพราะข้าวมีกรดอะมิโนไลซีนน้อย การกินถั่วซึ่งมีไลซีนสูงก็ช่วยเสริมกันได้ และในทางตรงกันข้าม ถั่วที่มีเมไทโอนีนน้อย การกินข้าวที่มีเมไทโอนีนสูงกว่าก็ช่วยให้ได้กรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน” คุณหมอแอมป์ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย  
ดังนั้นควรเลือกรับประทาน ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ เต้าหู้ ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ดต่างๆและผักหลากชนิด เป็นต้น 
นอกจากนี้ ผู้ที่รับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 12 เนื่องจากวิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรเพิ่มการรับประทานวิตามินบี 12 ที่มาจากแหล่งของพืช เช่น เทมเป้ สาหร่ายทะเล หรืออาหารที่มีการเติมวิตามินบี 12 เช่น นมจากพืช ซีเรียลอาหารเช้า เป็นต้น
 

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังการปนเปื้อนจากสารพิษและยาฆ่าแมลง กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้สด 
1. โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) โดยใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ถึง 80-95 %
2. ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน เด็ดผักออกเป็นใบ จากนั้นเปิดน้ำไหลแรงพอประมาณ ให้น้ำไหลผ่าน โดยวิธีนี้จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 54-63 %
3. ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอก ของผักออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบ แช่น้ำสะอาดนาน 5-10 นาที จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 27-72 %
4. น้ำส้มสายชู โดยใช้น้ำส้มสายชู 5% 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 29-38 % 
    อย่างไรก็ตาม การจะลดปริมาณสารพิษได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของผักด้วย

อาหารจากพืชดีต่อโลก
การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ทางสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1.83 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปีตลอดกระบวนการผลิต ขณะที่ผู้ที่รับประทานอาหารวีแกน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.89 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปีเท่านั้น
ผลผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 60 กิโลกรัม  ขณะที่ถั่วเหลืองก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.9 กิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งปริมาณต่างกันถึง 60 เท่า แสดงให้เห็นว่า หากลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง จะสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้
ทรัพยากรน้ำที่ถูกใช้ในสินค้าปศุสัตว์ก็มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด  เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำสูงถึง 15,415  ลิตร เนื้อหมู และ เนื้อไก่ ใช้น้ำ 5,988 และ 4,325 ลิตรตามลำดับ ในขณะที่การผลิตพืชผัก 1 กิโลกรัม ลดการใช้ทรัพยากรน้ำลงหลายเท่า โดย ข้าวใช้น้ำ 1,673 ลิตร แอปเปิ้ล 822 ลิตร และมะเขือเทศใช้น้ำเพียง 287 ลิตร เท่านั้น
จะเห็นได้ว่าการรับประทานอาหารจากพืชไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม จากการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก การใช้ที่ดินในการทำปศุสัตว์ ลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้ รวมทั้งสารเคมีและยาปฏิชีวนะที่ถูกใช้น้อยลงในขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

คุณหมอแอมป์อยากแนะนำให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพ ปรับการรับประทาน ลดการกินเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป “ใครลดได้ลด ใครที่ยังทำไม่ได้ ไม่เป็นไร อาจเริ่มลดจากรับประทานเป็นประจำ เป็นรับประทานนานๆ ที ส่วนใครที่ทำได้ดีแล้วหมอก็ขอชื่นชมเป็นเป็นกำลังใจให้” 
 


คุณหมอแอมป์ยังได้แนะนำหลักง่ายๆ อย่าง ‘จานสุขภาพ’ ให้ทุกคนไปปรับใช้ โดย 50% หรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักหลากหลายชนิด อีก 25% ที่เหลือเป็นแป้งไม่ขัดสี จำพวกข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือข้าวพันธุ์ไทยอย่างข้าวสังข์หยด ที่มีกากใย โปรตีน ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กสูง และอีก 25% เป็นโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ เนื้อปลา ไข่ขาว 

เพราะการดูแลสุขภาพที่ดี คือการดูแลสุขภาพองค์รวม ไม่ใช่แค่เพียงปรับพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเห็นความสำคัญของทุกเรื่องรวมกัน ทั้งเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ หากเราดูแลร่างกายของเราเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก็ไม่ต้องมาวิตกกังวลกับความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 
“เพราะสุขภาพคือสมบัติที่สำคัญที่สุด” คุณหมอแอมป์ได้ฝากเอาไว้

BDMS Wellness Clinic มุ่งมั่นพัฒนาและวิจัยเรื่องสุขภาพ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เพราะสุขภาพที่ดี คือของขวัญที่ดีที่สุด  Live longer, Healthier and Happier
บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ไลน์ @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/rdIDv1A  เว็บไซต์ www.bdmswellness.com   
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=s34VbS5II0k
แหล่งที่มา
1. Whitton C, Bogueva D, Marinova D, Phillips C. Are We Approaching Peak Meat Consumption? Analysis of Meat Consumption from 2000 to 2019 in 35 Countries and Its Relationship to Gross Domestic Product. Animals. 2021;11(12):3466.
2. Nils-Gerrit W. Global meat substitutes market size 2019-2027[Internet]. Feb 2, 2021 [cite Aug 10, 2021]. Available from: https://www.statista.com/statistics/877369/global-meat-substitutes-market-value/  
3. Chen Z, Schoufour J, Rivadeneira F, Lamballais S, Ikram M, Franco O et al. Plant-based Diet and Adiposity Over Time in a Middle-aged and Elderly Population. Epidemiology. 2019;30(2):303-310.
4. Satija, A., Bhupathiraju, S. N., Spiegelman, D., Chiuve, S. E., Manson, J. E., Willett, W., ... & Hu, F. B. (2017). Healthful and unhealthful plant-based diets and the risk of coronary heart disease in US adults. Journal of the American College of Cardiology, 70(4), 411-422.
5. Al-Shaar L, Satija A, Wang D, Rimm E, Smith-Warner S, Stampfer M et al. Red meat intake and risk of coronary heart disease among US men: prospective cohort study. BMJ. 2020;:m4141.
6. Aljabali A, Maghrabi R, Shok A, Alshawmali G, Alqahtani A, Alsinan Z et al. Plant-based diet and risk of type 2 diabetes mellitus: a systematic review and meta-analysis. International Journal of Medicine in Developing Countries. 2020;:1301-1306..
7.  Bruno M, Thomsen M, Pulselli F, Patrizi N, Marini M, Caro D. The carbon footprint of Danish diets. Climatic Change. 2019;156(4):489-507.
8.  Mekonnen MM, Gerbens-Leenes W. The water footprint of global food production. Water. 2020;12(10):2696.
9. Ornish D. Avoiding revascularization with lifestyle changes: the multicenter lifestyle demonstration project. The American Journal of Cardiology. 1998;82(10):72-76.
10. Lin P, Leslie D, Levine M, Davis G, Esselstyn C. Plant-Based Diet Reverses Vascular Endothelial Dysfunction in Patients with Peripheral Arterial Disease. International Journal of Disease Reversal and Prevention. 2020;2(1):15.
11. Rinaldi S, Campbell E, Fournier J, O'Connor C, Madill J. A Comprehensive Review of the Literature Supporting Recommendations From the Canadian Diabetes Association for the Use of a Plant-Based Diet for Management of Type 2 Diabetes. Canadian Journal of Diabetes. 2016;40(5):471-477.
12. Qian F, Liu G, Hu F, Bhupathiraju S, Sun Q. Association Between Plant-Based Dietary Patterns and Risk of Type 2 Diabetes. JAMA Internal Medicine. 2019;179(10):1335.
13. Lavalette C, Adjibade M, Srour B, Sellem L, Fiolet T, Hercberg S, et al. Cancer-specific and general nutritional scores and cancer risk: results from the prospective NutriNet-Sante cohort. Cancer research. 2018;78(15):4427-35.
14. Chen Z, Wang P, Woodrow J, Zhu Y, Roebothan B, Mclaughlin J et al. Dietary patterns and colorectal cancer: results from a Canadian population-based study. Nutrition Journal. 2015;14(1).
15. Rigi S, Mousavi S, Benisi-Kohansal S, Azadbakht L, Esmaillzadeh A. The association between plant-based dietary patterns and risk of breast cancer: a case–control study. Scientific Reports. 2021;11(1).
16. Lin J, Fung T, Hu F, Curhan G. Association of Dietary Patterns With Albuminuria and Kidney Function Decline in Older White Women: A Subgroup Analysis From the Nurses' Health Study. American Journal of Kidney Diseases. 2011;57(2):245-254.
17. Oosterwijk M, Soedamah-Muthu S, Geleijnse J, Bakker S, Navis G, Binnenmars S et al. High Dietary Intake of Vegetable Protein Is Associated With Lower Prevalence of Renal Function Impairment: Results of the Dutch DIALECT-1 Cohort. Kidney International Reports. 2019;4(5):710-719.
18. Yuzbashian E, Asghari G, Mirmiran P, Hosseini F, Azizi F. Associations of dietary macronutrients with glomerular filtration rate and kidney dysfunction: Tehran lipid and glucose study. Journal of Nephrology. 2014;28(2):173-180.
19. Ministry of Public Health. 3.วิธีลดปริมาณสารพิษในผักผลไม้และวิธีล้างผักให้สะอาด [Internet]. Fda.moph.go.th. 2005 [cited 7 April 2022]. Available from: https://www.fda.moph.go.th/sites/food/KM/poison/WashFruitsAndVegetables.pdf
20. Hannah Ritchie and Max Roser (2017) - "Meat and Dairy Production". Published online at OurWorldInData.org. Retrieved from: 'https://ourworldindata.org/meat-production' [Online Resource]


ทำความรู้จัก “ภาวะเมทฮีโมโกลบิน" หลังพบเด็กป่วยจากกินไส้กรอกไร้ยี่ห้อ

วิธีกำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง ช่วยลดการกระจายโควิด-19 และรักษาสิ่งแวดล้อม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ