ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเจ็บหน้าอก มากกว่า 6 ล้านคนต่อปี โดย 54% ของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอดจำเป็นต้องเข้ารักษาอย่างเร่งด่วนที่ห้องฉุกเฉิน ปี 2564 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากถึง 15,208 คน แม้จะได้รับการรักษา แต่ก็มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 2,196 คน คิดเป็นร้อยละ 17.55 ของผู้ที่เข้ารับการรักษา จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บหน้าอกไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นภาวะที่เราควรให้ความสนใจ และใส่ใจอย่างยิ่ง
โรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และหอบเหนื่อย อาการเจ็บอาจร้าวไปที่หัวไหล่หรือกราม บางคนมีอาการใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย มักเกิดหลังจากการออกกำลังกาย การใช้แรง หรือเกิดตามหลังอารมณ์เครียดจัดเพราะความดันโลหิตสูง หากมีอาการเหล่านี้ควรพักอยู่นิ่ง ๆ หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที่ พยายามอย่าออกแรงและไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เนื่องจากการออกแรงจะทำให้หัวใจสูบฉีดมากยิ่งขึ้น และอาการจะแย่ลงได้
โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันมีนาทีทองของการรักษา ประมาณ 90 นาทีหลังจากเริ่มเจ็บหน้าอก กล่าวคือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการรักษาเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ดังนั้นควรมาโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการ
มีความเชื่อผิด ๆ ที่แพร่หลาย คือ หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนจะเป็นโรคหัวใจให้หายใจแรง ๆ เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องปอด ถ่วงเวลาให้ทันไปโรงพยาบาล เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิด การไอแรง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันแต่อย่างใด
บางครั้งอาการเจ็บแน่นหน้าอกของโรคหัวใจ อาจเป็น ๆ หาย ๆ หลังออกแรง ครั้งละ 20 นาที พอนั่งพักแล้วอาการก็หายไปทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจที่จะมาพบแพทย์ ดังนั้นหากพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาและรับคำแนะนำ สิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งคือการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ การที่ร่างกายไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นโรค แต่อาจอยู่ในภาวะเงียบของโรค ซึ่งยังไม่แสดงอาการ เช่น เส้นเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจต้องมีการอุดตันประมาณ 50-70% ไปแล้วถึงจะก่อให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อขาดเลือด การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง จะช่วยให้การทำงานของระบบไหลเวียนดีขึ้น และควรพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพราะวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพของตนเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก Happy Health by BDMS