ยลสวรรค์บนผืนน้ำ "เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ" แนวปะการังมรดกโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ" แนวปะการังนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของออสเตรเลีย แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักดำน้ำ ขณะนี้เป็นที่น่าตกใจเมื่อมรดกโลกแห่งนี้กำลังเผชิญวิกฤตสูญหายไปกว่าครึ่ง







"เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ" (Great Barrier Reef) แนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลกยาวกว่า 2,000 กม. อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลียหรือตอนใต้ของทะเลคอรัล เริ่มตั้งแต่แหลมยอร์ก (Cape York) ซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ลงมาถึงบันดะเบอร์ก (Bundaberk) ทางตอนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 345,000 ตร.กม.ของน่านน้ำรอบๆ


แนวปะการังและแนวปะการังใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้


1. แนวปะการังเหนือ (Northern Reef)


2. หมู่เกาะวิตซันเดย์ (Whitsunday Island)


3. แนวปะการังใต้ (Southern Reef)


โดยมีทั้งปะการังชนิดอ่อน-ชนิดแข็งสีสวยกว่า 350 ชนิด ตลอดจนปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลอีก 1500 ชนิด ซึ่งเป็นโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการรวมกลุ่มของปะการังหลายร้อยล้านชีวิต









สำหรับแนวปะการังซึ่งดูเหมือนกับป่าใต้น้ำนี้ เจริญเติบโตในเขตทะเลร้อน กระแสน้ำอุ่น และเป็นที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นของชีวิตสัตว์ทะเลที่ต่างๆ กัน ได้แก่ ฟองน้ำ 10,000 ชนิด ปะการัง 350 ชนิด หอย 4,000 ชนิด ดาวทะเล และซี เออร์ชิน (Sea Urchin) ซึ่งเป็นสัตว์ประเภทคล้ายหอย 350 ชนิด นอกจากนี้ยังมีปลา งู วาฬ เต่า รวมแล้วมากกว่า 6,000 ชนิด นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นบริเวณที่มีพะยูนอาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย จากการคำนวนแล้วนักดำน้ำจะต้องดำน้ำถึงพันครั้งจึงจะได้เห็นจุดเด่นของปะการังแห่งนี้ทั้งหมด


ด้วยความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติขนาดมหึมานี้ จึงได้รับการพิจารณาจากองค์การ UNESCO ให้อนุรักษ์เป็นมรดกโลก (World Heritage List) เพราะเป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากและสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา อีกทั้งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชหายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายแต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหนาแน่นของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วยสนใจด้วย











ธรรมชาติอันงดงามกำลังเผชิญวิกฤตสูญหาย


"เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ" กำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติและได้เสียหายไปกว่าครึ่งในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพายุรุนแรง ปลาดาวหนาม และปะการังฟอกขาวอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลก


โดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (AIMS) และมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย ออกมาเตือนว่าแนวปะการังยักษ์มรดกโลกแห่งนี้อาจหายไปอีกครึ่งภายในปี 2565 หากสภาพแวดล้อมยังคงเป็นแบบปัจจุบัน


จากการสำรวจวิจัยแนวปะการังกว่า 200 จุด บริเวณนอกชายฝั่งควีนส์แลนด์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 - 2555 พบว่าพายุโซโคลนที่รุนแรงเป็นต้นเหตุทำให้ปะการังเสียหายมากที่สุดราว 48% ขณะที่การระบาดของปลาดาวหนามทำให้ปะการังเสียหายไป 42% นอกจากนี้ยังพบว่าปะการังฟอกขาวครั้งรุนแรงขึ้น 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2545 อันเนื่องมาจากน้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิดการเสียหายกว่า 10%


ล่าสุด UNESCO ออกมาระบุว่ายังไม่ขึ้นบัญชี "เกรท แบริเออร์ รีฟ" เป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย อีกทั้งแสดงความพอใจในความพยายามของประเทศออสเตรเลียที่จะรักษาพื้นที่ธรรมชาติที่มีความเปราะบางแห่งนี้ แต่ยังคงเป็นห่วงถึงอนาคตข้างหน้า โดยระบุว่าสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงเนื่องมาจากการพัฒนาชายฝั่ง เป็นสาเหตุหลักที่คุกคามมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งนี้


ภาพจาก : blog.queensland.com

www.drakonoskrydziai.lt

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ