สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน คือการอยู่รวมกลุ่ม ทั้งแบบครอบครัว คนรักหรือเพื่อนฝูง โดยมีสิ่งที่เชื่อมโยงไว้ คือความสัมพันธ์ หรือในภาษาอังกฤษว่า Relationship แต่นอกจากความสัมพันธ์ที่ดี ยังมีอีกแง่มุมของความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เรียกว่า Toxic Relationship หรือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั่นเอง แล้วตัวคุณล่ะในตอนนี้ ตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship หรือเปล่า
เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้คนมี "เพศสัมพันธ์" น้อยลงจริงหรือ?
7 อย่างที่ควรรู้ เกี่ยวกับ "แพนเซ็กชวล" (Pansexual)
6 องค์ประกอบความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship
1.ความสัมพันธ์ที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หรือถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกควบคุม หรือเป็นฝ่ายผิดอยู่เสมอ ในขณะที่อีกฝ่ายถูกตลอด ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ควรมีใครได้รับ เพราะหากคนที่รักหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งสองฝ่ายควรมีความเสมอภาค เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เป็นทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด มีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันด้วยความจริงใจ
2.ความสัมพันธ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก ที่อีกฝ่ายอาจรักหรือหึงหวงอีกฝ่ายมากเกินขอบเขต ทำให้อีกฝ่ายไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเพราะมีความกลัว เช่น จะไปเที่ยวกับเพื่อนหรือทำอะไรที่ต้องการ แต่ก็ไม่กล้า เพราะกลัวทะเลาะและมีปัญหากับคนรัก คงจะดีกว่าหากความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายสามารถไว้ใจกัน ทำให้อีกฝ่ายมั่นใจและไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหา
3.ความสัมพันธ์ที่เหนื่อยหน่าย เกิดขึ้นได้กับทุกรูปแบบความสัมพันธ์ การที่ได้คุยได้เจอกัน แต่กลับไม่มีความสุข มีแต่ความเหนื่อยอกเหนื่อยใจ มีแต่ความอึดอัดหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ใครที่กำลังเจอความสัมพันธ์แบบนี้ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์ไว้ บางคนอาจถึงขั้นหมดกำลังใจจะคงความสัมพันธ์ต่อไป แต่ทางออกง่ายๆ คือการพูดคุยและพยายามปรับความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย บอกในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสลายความเหนื่อยหน่ายเหล่านั้นทิ้งไป
4.ความสัมพันธ์ที่ทำให้อีกฝ่ายลำบาก หรือสร้างความเดือดร้อนให้อีกฝ่าย ทำชีวิตของตัวเองให้ลำบากและพาอีกฝ่ายลำบากไปด้วยทั้งที่ไม่มีความจำเป็น นั่นอาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีนัก เพราะไม่มีใครอยากแบกรับในปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อ หรือรับเอาความลำบากใจมาทำให้ชีวิตลำบากขึ้น ใครที่เจอความสัมพันธ์แบบนี้ อาจต้องพยายามทำให้อีกฝ่ายเข้าใจ และหาทางหยุดสร้างความลำบากให้แก่กัน
5.ความสัมพันธ์ที่ละเลย ไม่ใส่ใจ เป็นอีกรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ จากความไม่สนใจหรือละเลยของอีกฝ่าย การไม่ให้ความสำคัญหรือทำให้อีกฝ่ายเหมือนอยู่ตัวคนเดียว เช่น คนรักที่เป็นคนดูแลเอาใจใส่อีกฝ่ายตลอดเวลา แต่อีกฝ่ายกลับไม่ค่อยสนใจ ให้ความสำคัญแต่กับเรื่องของตัวเอง แบบนี้อาจทำให้อีกฝ่ายที่พยายามอยู่ฝ่ายเดียว หมดกำลังใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดี จนความสัมพันธ์เป็นพิษได้ในที่สุด
6.ความสัมพันธ์ที่ทำให้อีกฝ่ายอึดอัด จากความใกล้ชิดที่มากเกินขอบเขต จนพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่ายหายไป เช่น คนรักที่คอยติดตามหรือถามอีกฝ่ายตลอดเวลาว่าจะไปไหนมาไหน อยู่กับใคร ทำอะไร เช็คโทรศัพท์มือถือ หรือแสดงความหึงหวงไม่พอใจมากไป แบบนี้ไม่น่าจะดี เพราะไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใด ทุกคนต่างก็ต้องมีพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของตัวเอง