วิจัยเผยร่องรอยดีเอ็นเอจาก "ขนแมว" ช่วยไขคดีอาชญากรรมได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทาสแมวต่างทราบกันดีว่า บรรดาเจ้านายนั้นมีนิสัยซุกซนชอบสอดรู้สอดเห็น แถมยังถูไถตัวกับสิ่งของตามสถานที่ต่าง ๆ ไปทั่ว ที่สำคัญก็ยังทำให้ขนของแมวเหล่านี้ติดไปยังส่วนต่าง ๆ ของบ้านเราอีกด้วย แล้วแบบนี้ ขนน้องแมว มันดีอย่างไร?

นิสัยของแมวที่ดูจะกวนใจผู้คนแบบนี้กลับมีประโยชน์เกินคาดในทางนิติเวชศาสตร์ โดยทำให้แมวเหมียวกลายเป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของนักสืบและตำรวจในการไขปริศนาคดีอาชญากรรมได้ วารสาร  Forensic Science International ฉบับพิเศษว่าด้วยประเด็นทางพันธุศาสตร์ (Genetics Supplement Series) ตีพิมพ์รายงานวิจัยล่าสุดว่าด้วยประโยชน์ของขนสัตว์เลี้ยงในการกักเก็บร่องรอยดีเอ็นเอ ซึ่งอาจช่วยให้เบาะแสของคนร้ายในคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุฆาตกรรมหรือปล้นชิงทรัพย์ซึ่งเกิดขึ้นในบ้านที่มีหมาหรือแมวอยู่ 

คอนเทนต์แนะนำ
2023 ฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ต้อนรับปี "กระต่าย" และ "แมว"
22 กุมภาพันธ์ “วันแมวญี่ปุ่น” รู้เรื่องเหมียวๆ ที่ทำให้ชาวอาทิตย์อุทัยหลงรัก

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) ของออสเตรเลีย และแผนกนิติเวชศาสตร์ของสำนักงานตำรวจรัฐวิกตอเรีย ระบุว่าเป็นผู้ทำการทดลองครั้งแรกของโลก เพื่อตรวจสอบว่าขนแมวจะกักเก็บร่องรอยดีเอ็นเอของมนุษย์ได้เพียงพอสำหรับการสืบสวนคดีอาชญากรรมหรือไม่ โดยกลุ่มทดลองเป็นแมว 20 ตัว จาก 15 ครัวเรือนด้วยกัน 
การทดลองมีขึ้นในบ้านที่แมวอาศัยอยู่ โดยผู้วิจัยจะเก็บตัวอย่างของร่องรอยดีเอ็นเอจากขนแมว ด้วยการเช็ดถูที่ลำตัวข้างขวาของแมว 2 ครั้ง จากนั้นจะมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ตามปกติแล้วการสืบสวนคดีอาชญากรรมมักใช้ร่องรอยดีเอ็นเอจากการสัมผัส (touch DNA) ที่เกิดขึ้นหลังมนุษย์จับต้องสิ่งของหรือแตะพื้นผิวต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยคาดว่าร่องรอยดีเอ็นเอจากขนแมวน่าจะเป็นฝุ่นละอองที่ร่วงหล่นจากร่างกาย จำพวกซากเซลล์ผิวหนังและเศษเส้นขนมากกว่า ซึ่งหลักฐานเหล่านี้อาจช่วยชี้ตัวบุคคลภายนอกที่ลอบเข้ามาในบ้าน หรือช่วยให้ตำรวจตัดผู้ต้องสงสัยบางรายออกไปจากการสืบสวนได้

ผลการทดลองพบว่า ร่องรอยดีเอ็นเอจากขนแมวถึง 80% อยู่ในระดับที่สูงและชัดเจนพอจะตรวจสอบได้ โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างแมวพันธุ์ต่าง ๆ ในเรื่องของปริมาณดีเอ็นเอที่เก็บมาได้ รวมทั้งระยะเวลาการเก็บรักษาดีเอ็นเอเอาไว้ที่ขน ไม่ว่าแมวนั้นจะเป็นพันธุ์ขนยาวหรือขนสั้นก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังสามารถแยกแยะดีเอ็นเอมนุษย์ซึ่งติดอยู่ที่ขนแมวออกมาได้ถึง 70% ของกลุ่มทดลองทั้งหมด ซึ่งนำไปใช้วิเคราะห์ตีความเพื่อไขความกระจ่างในคดีอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี โดยในการทดลองครั้งนี้พบร่องรอยดีเอ็นเอของบุคคลลึกลับที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวจากแมวถึง 6 ตัว ทั้งที่ไม่มีคนแปลกหน้ามาเยือนที่บ้านเลยในช่วงสองวันก่อนทำการทดลอง 

แม้ผลวิจัยในครั้งนี้ยืนยันว่าขนแมวสามารถจะช่วยไขคดีอาชญากรรมได้ แต่ทีมผู้วิจัยบอกว่ายังคงจะต้องทำการทดลองเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ทราบข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์ร่องรอยดีเอ็นเอจากขนแมวมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น 
 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ