NO ad avaliable!

“งูทับสมิงคลา-ปล้องฉนวน” แตกต่างกันอย่างไร พร้อมรู้จัก 4 ชนิดงูพิษในไทย

โดย: PPTV ONLINE

เปรียบเทียบงูทับสมิงคลา-ปล้องฉนวนแตกต่างกันอย่างไร พร้อมรู้จัก 4 ชนิดงูพิษในไทย และวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการถูกงูฉก การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ออกมาโพสต์เตือนหลังมีชายรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ขอความช่วยเหลือในกลุ่ม “งูไทย…อะไรก็ได้ all about Thailand snakes” เนื่องจากถูกงูกฉก โดยระบุว่า “งูอะไรครับ โดนฉกที่เถียงนา อ.เมือง จ.มุกดาหาร 30 นาทีก่อน คลื่นไส้อาเจียน 1 ครั้ง ปวดแผลเล็กน้อย”

ทางเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ระบุว่า น่าจะงูทับสมิงคลา แต่ต้องแยกกับงูปล้องฉนวนด้วย ถ้าเป็น งูปล้องฉนวน จะไม่มีพิษ 

คอนเทนต์แนะนำ
พลิกวงการอสรพิษวิทยา! ไม่ใช่แค่ในคน “งู” ก็มี “คลิตอริส”
ปฏิทินวันหยุดเดือนกรกฎาคม 2566 เช็กเลยวันที่ 31 ก.ค. หยุดไหม
โปรแกรมการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ศึกเนชั่นส์ ลีก 2023 วันที่ 27 มิ.ย.66

งูทับสมิงคลา

งูปล้องฉนวน

ส่วน งูทับสมิงคลา เป็นงูที่พิษรุนแรงอันดับต้นๆ ของไทย พิษของงูทับสมิงคลาหลักๆ จะมีผลต่อะระบบประสาททำให้คนที่โดนกัด มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก หายใจเองไม่ได้จนเสียชีวิต แบบคนที่โดนงูเห่ากัดปรกติมักเจอช่วงกลางคืน เป็นงูที่ กินกบ เขียด และงูด้วยกัน

ข้อความดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการพูดถึงบนโลกโซเชียลมากมายถึงความแตกต่างของงูทั้ง 2 ชนิด วันนี้ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกัน

ทับสมิงคลา” งูพิษร้ายแรงอันดับๆ ของไทย

งูทับสมิงคลา เป็นงูที่มีลำตัวค่อนข้างกลม มีสันเล็กน้อยแต่ไม่ชัดเจนอย่างงูสามเหลี่ยม มีสีดำสลับขาวเป็นปล้องตลอดความยาวลำตัว  ส่วนท้องมีสีขาว ส่วนบนของหัวมีสีดำปนเทา ส่วนหางเรียวยาวและปลายหางแหลม เป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียวและพิษมีความรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม โดยพิษของงูทับสมิงคลาจะมีผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยเกิดหนังตาตก พูดไม่ชัด หายใจไม่สะดวก

งูชนิดนี้พบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งมักพบอาศัยตามดินที่ลุ่มชิ้นใกล้กับแหล่งน้ำ โดยมักออกหากินยามกลางคืน จับงูขนาดเล็ก จิ้งเหลน กบ และเขียดเป็นอาหาร

ปล้องฉนวน” งูไร้พิษแฝดทับสมิงคลา

งูปล้องฉนวน เป็นงูลำตัวเรียวยาว มีแถบสีขาวสลับดำ หรือสีดำอมๆ เทา พอโตขึ้นจะจางลงเริ่มจากส่วนหางขึ้นมา กลุ่มงูปล้องฉนวนเกล็ดมีลักษณะเท่าๆกัน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มงูทับสมิงคลาหรืองูสามเหลี่ยมที่มีพิษอันตรายลักษณะ ที่จะมีเกล็ดกลางสันหลังเป็นเกล็ดขนาดใหญ่ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม

อย่างไรก็ตามงูปล้องฉนวน เป็นงูที่ไม่มีพิษ ไม่มีอันตราย กินสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น เขียด กิ่งก่า จิ้งเหลนเท่านั้น

หลักในการจำแนกงูทับสมิงคลา-ปล้องฉนวน

สำหรับหลักในการจำแนกความแตกต่างที่แม่นยำมากที่สุด นายนิรุทธ์ ชมงาม หรือ ประธานกลุ่มอสรพิษวิทยา (นิค อสรพิษวิทยา) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านงู และเจ้าของเพจ Nick Wildlife ให้สัมภาษณ์ว่า ในการจำแนกงูทั้ง 2 ชนิดนี้ จะใช้เกล็ดกลางหลังเป็นหลัก กลุ่มงูปล้องฉนวนเกล็ดจะมีลักษณะเท่าๆ กัน ส่วน กลุ่มงูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา เกล็ดกลางหลังจะเป็นเกล็ดขนาดใหญ่รูปหกเหลี่ยม

คอนเทนต์แนะนำ
วิจัยพบอาหารต้านมะเร็งลำไส้ ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
เตือน! พิษกิ้งกือ สัตว์ชุกชุมช่วงหน้าฝนไม่กัดแต่มีพิษทำผิวหนังไหม้ได้!
“งูกัด” ตกใจได้แต่มีสติ - ห้ามขันชะเนาะ หาแพทย์รับการรักษาโดยด่วน

รู้จักงูพิษในประเทศไทย

งูพิษที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่ม คือ

  • Elapidae งูในกลุ่มนี้จะมีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนด้านหน้า เวลากัดผู้ป่วยมักจะไม่เห็นรอยเขี้ยว เนื่องจากเขี้ยวสั้นและเคลื่อนไหวไม่ได้ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูพริก และงูปล้องหวาย อาการสำคัญของผู้ป่วยที่ได้รับพิษคือ อาการทางระบบประสาท พิษของงูเห่ายังทำให้เกิดบวมตรงตำแหน่งที่ถูกกัด ซึ่งเป็นฤทธิ์ cytotoxicity ส่วนพิษของงูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลาจะไม่มีฤทธิ์ cytotoxicity เลย ดังนั้นจะไม่พบการบวมตรงตำแหน่งที่ถูกกัดจากงูทั้งสองชนิดนี้
  • Viperidae (Vipers) งูในกลุ่มนี้จะมีเขี้ยวพิษอยู่กรามบนด้านหน้า เวลากัดผู้ป่วยมักจะเห็นรอยเขี้ยวเนื่องจากเขี้ยวยาวเคลื่อนไหวและเก็บงอพับได้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยๆ คือ
    • 1.) Cratalinae งูในกลุ่มแยกย่อยนี้จะมีรูอยู่ระหว่างจมูกกับตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่รับรู้ความร้อน (thermosensitive organ) ทำให้งูรู้ว่ามีสัตว์เลือดอุ่น เช่น หนูอยู่ตำแหน่งไหน มีประโยชน์ในการจับเหยื่อ งูในกลุ่มนี้ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ ซึ่งมีพิษทำลายผนังด้านในของหลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดออกตามที่ต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีพิษทาง cytotoxicity ด้วย ทำให้แผลที่ถูกกัดบวมและเน่าได้
    • 2.) Viperinae งูในกลุ่มแยกย่อยนี้ จะไม่มีรูอยู่ระหว่างจมูกกับตา ได้แก่ งูแมวเซา ซึ่งมีพิษทำให้เลือดออกตามที่ต่าง ๆ และมีพิษต่อไตทั้งทางตรง และทางอ้อม นอกจากนี้ยังมีพิศยังทำลายเนื้อเยื่อ และมีพิษทาง cytotoxicity ทำให้แผลที่ถูกกัดบวม

  • Hydrophiidae งูในกลุ่มนี้มีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนด้านหน้า เวลากัด ผู้ป่วยมักไม่เห็นรอยเขี้ยว เนื่องจากเขี้ยวสั้นและเคลื่อนไหวไม่ได้ ได้แก่ งูทะเล เช่น งูชายธง งูคออ่อน งูสมิงทะเล งูกะรัง และงูแสมรัง เป็นต้น ลักษณะพิเศษของงูทะเล คือ จะมีหัวเล็ก ลำตัวยาว ลายที่ลำตัวเป็นปล้องๆ สีขาวหรือเหลือง สลับกับสีเทาหรือดำ หางแบนกว้างคล้ายพายมีประโยชน์สำหรับว่ายน้ำ พิษงูทะเลสามารถทำลายกล้ามเนื้อ และยังมีพิษทำลายประสาทด้วย
  • Colubridae งูในกลุ่มนี้มีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนอยู่ด้านในสุด เขี้ยวพิษของงูกลุ่มนี้สั้นและอยู่ด้านในทำให้กัดคนลำบาก จึงไม่ค่อยพบว่างูชนิดนี้ทำอันตรายต่อมนุษย์มากนัก บางคนคิดว่าเป็นงูไม่มีพิษ แต่ความเป็นจริงแล้วงูในตระกูลนี้บางตัวมีพิษและมีรายงานคนเสียชีวิตจากงูชนิดนี้กัดแล้ว โดยมากจะเป็นนักเลี้ยงงู ซึ่งคิดว่าเป็นงูไม่มีพิษ โดยที่พบในประเทศไทยคือ งูลายสาบคอแดง ลักษณะคล้ายงูเขียวแต่หางไม่มีสีน้ำตาล แต่มีสีแดงที่คอ พิษงูในกลุ่มนี้จะทำให้เลือดออกตามที่ต่างๆ ของร่างกาย

การป้องกันงูฉก

  • ถ้าพบงูในระยะห่าง อย่าเข้าใกล้ เพราะงูจะไม่ทำร้ายมนุษย์เช่นกัน
  • ถ้าพบงูในระยะใกล้ ให้อยู่นิ่งๆ รองูเลื้อยหนีไป เพราะงูส่วนใหญ่สายตาไม่ดี มักจะฉกสิ่งที่เคลื่อนไหว เพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู
  • ถ้างูไม่ยอมเลื้อยหนี ให้ก้าวถอยอย่างช้าๆ จนพ้นระยะห่าง 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะพ้นจากการฉกกัดของงู
  • หากมีความจำเป็นต้องเดินเข้าไปในพื้นที่ที่มีงู ให้สวมรองเท้าบูตยาวเพื่อป้องกันงูกัด และใช้ไม้ยาวๆ เคาะไปตามพื้นหรือพื้นที่ด้านหน้าเพื่อเตือนให้งูหนีไปก่อน หรือตรวจดูว่ามีงูอยู่หรือไม่
  • ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน หากจำเป็นควรพกไฟฉายหรือวัตถุที่ให้แสงสว่างส่องนำทาง
  • ตรวจเช็กบริเวณที่นอนและกองผ้าต่างๆ ก่อนทุกครั้ง เพราะงูมักจะมาหาที่อบอุ่นเพื่อหลบซ่อนตัวอยู่ตามกองผ้า ที่นอน หมอน และมุ้ง

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกฉก

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือทันที
  • ใช้ผ้าพันแผล โดยเริ่มพันจากรอยแผลถูกกัดแล้วพันต่อไปจนถึงข้อต่อหรือสูงเหนือบาดแผลให้มากที่สุด
  • หาไม้กระดานหรือวัสดุที่มีความแข็งแรงมาดาม แล้วพันด้วยผ้าพันแผลทับอีกครั้ง เพื่อให้อวัยวะส่วนที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
  • นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาด้วยเซรุ่มแก้พิษงู

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อถูกฉก

  • ไม่จำเป็นต้องฆ่างูให้ตาย เพื่อเอามาโรงพยาบาล ให้ถ่ายภาพมาก็เพียงพอแล้ว เสร็จแล้วให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
  • ไม่ควรใช้ไฟจี้ หรือเอามีดกรีดบาดแผล เพราะจะทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาด
  • ไม่ควรใช้การขันชะเนาะ เพราะจะทำให้อวัยวะขาดเลือด
  • ไม่ควรใช้ปากดูดแผล
  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มสุรา
  • ไม่ควรใช้ยากระตุ้นหัวใจ มอร์ฟัน ยาระเหย หรือยาแก้แพ้ต่างๆ เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูทางระบบประสาท (หากปวดมาก ให้ใช้ยาพาราเซตามอลได้)

ทั้งนี้ ถ้าถูกงูฉกไม่ว่าจะชนิดไหนก็ตาม ควรรีบพบแพทย์ โดยให้ถ่ายภาพมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องจับงูหรือฆ่างูมาให้ได้ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

ขอบคุณข้อมูลจาก : สภากาชาดไทย , โรงพยาบาลรามาธิบดี และ เฟซบุ๊กงูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encounters

ภาพจาก : Thai National Parks

คอนเทนต์แนะนำ
เครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ อะไรกินได้ อะไรควรระวังหลีกเลี่ยง
กางปฏิทินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างประจำ บำนาญ ปี 2566

NO ad avaliable!

RELATED

TOP ไลฟ์สไตล์