รู้จัก “ถือศีลกินผัก” เทศกาลกินเจภูเก็ต สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เปิดที่มา “ประเพณีถือศีลกินผัก” วัฒนธรรมการกินเจจากชาวจีนโพ้นทะเลที่ผสมผสานกับวัฒธรรมท้องถิ่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ตที่สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี

เข้าสู่เดือนตุลาคม หลายร้านอาหารเริ่มประดับประดาธงสีเหลืองกันให้เห็นเต็มไปหมด เป็นสัญญาณว่า เทศกาลกินเจ ได้เวียนมาถึงอีกครั้งแล้ว

เมื่อพูดถึงเทศกาลงานบุญใหญ่นี้ นอกจากจะนึกถึงกิจกรรมภายในย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร อีกจังหวัดหนึ่งที่จัดยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน และเป็นถึงกิจกรรมเอกลักษณ์ประจำจังหวัดที่นักท่องเที่ยวต่างตั้งตารอคอยที่จะไปชมกันให้ได้สักครั้ง คือ “จังหวัดภูเก็ต”

เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มวันไหน มีข้อปฏิบัติและข้อห้ามอย่างไร?

รู้จัก “ถือศีลกินผัก” เทศกาลกินเจภูเก็ต สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี

คอนเทนต์แนะนำ
กินเจ 2567 วันไหน คนเริ่มกินเจต้องรู้อะไรบ้าง พร้อมเคล็ดลับเช็กของเจ

เทศกาลกินเจภูเก็ต สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี ช่างภาพพีพีทีวี
รู้จัก “ถือศีลกินผัก” เทศกาลกินเจภูเก็ต สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี

วันนี้ทีมข่าว นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงขออาสาพาทุกคนไปรู้จักกับประเพณีกินเจที่เรียกว่า “ประเพณีถือศีลกินผัก” ที่ได้รับเอาวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาผสมผสานให้เข้ากับท้องถิ่น จนกลายเป็นประเพณีเอกลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ตกัน!

วัฒนธรรมจากชาวจีนโพ้นทะเล

การกินเจ เดิมเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนเฉพาะถิ่น ในแทบที่อยู่อาศัยของชาวจีนฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว แต่เขาไม่ได้เรียกว่า “เทศกาลกินเจ” แต่จะเรียกว่า “เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9” ซึ่งเป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋า

ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามา จึงปรากฏตำนานความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกโยงกับพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ เรียกว่า “กิ้วอ้วงฮุดโจ้ว” และสาธุชนในพระพุทธศาสนาจะถือศีล กินเจกัน เพื่อสักการบูชาทั้ง 9 พระองค์นี้ ได้แก่

  • พระอาทิตย์ ภาษาจีนเรียกว่า ไท้เอี๊ยงแชแช แปลว่า ดวงดาว
  • พระจันทร์ คือ ไท้อิมแช
  • ดาวพระอังคาร หรือ ฮวยแช
  • ดาวพระพุธ หรือ จุ๊ยแช
  • ดาวพระพฤหัสบดี หรือ บั๊กแช
  • ดาวพระศุกร์ หรือ กิมแช
  • ดาวพระเสาร์ หรือ โท้วแช
  • ดาวพระราหู หรือ ล่อเกาแช
  • ดาวพระเกตุ หรือ โกยโต้วแช

แต่ต่อมาชาวจีนในละแวกนี้มักย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ภาคใต้ของประเทศไทย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลกินเจในประเทศไทย

เทศกาลกินเจภูเก็ต สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี ช่างภาพพีพีทีวี
ผู้ที่เข้าร่วมประเพณีถือศัลกินผัก เป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์

ที่มาเทศกาลถือศีลกินผักภูเก็ต

ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเข้ามาปักหลักถิ่นฐานกันที่ภูเก็ต เทศกาลบุญนี้จึงเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 200 ปีก่อนที่มีชาวจีนโล้สำเภาเข้ามา ในปี พ.ศ. 2368

โดยถือกำเนิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่ชุมชนกะทู้ (ในทู) เพราะเป็นยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมแร่ดีบุก จึงทำให้มีผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศเพื่อทำมาหากิน

ด้วยภูมิประเทศของย่านกะทู้เป็นป่าทึบ ชุกชุมไปด้วยยุงและไข้ป่ามาลาเรีย ทำให้ในตอนนั้นผู้คนในชุมชนต่างพากันล้มป่วย รวมถึงคณะงิ้วปั่วฮี่ที่มาจากมณฑลฮกเกี้ยนในเมืองจีนเพื่อทำการแสดงสันทนาการให้กับแรงงานเหมืองด้วย

แต่คณะงิ้วลองมาคิดทบทวนดูว่าทำไมผู้คนต่างพากันล้มป่วย จึงรู้ว่าคณะตัวเองไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี๊ยะฉ่าย” หรือแปลตรงตัวว่า “พิธีกินผัก” อย่างที่เคยทำมาเป็นประจำ จึงได้เริ่มประกอบพิธีกินผักหลังจากนั้น โดยทำตามเหมือนที่เคยได้ปฏิบัติกันมาเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่จีน คือจะทำการบวงสรวงเทพเจ้าหยกอ่องส่องเต่ (เง็กเซียนฮ่องเต้) กิ๊วอ่องต่ายเต่ (ราชาธิราชทั้ง 9 องค์) รวมถึงเหล่าเอี๋ย (เทพแห่งคณะงิ้ว) เพื่อขอขมา ชำระร่างกาย และสะเดาะเคราะห์เพื่อให้พ้นโรคภัย

ที่น่าทึ่งคือหลังจากทำพิธีนั้นไม่นานโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดต่างๆ ได้หายไปจนหมดสิ้น ทำให้ผู้คนในจังหวัดภูเก็ตเกิดแรงศรัทธาและเลื่อมใสในตัวองค์เทพ จึงสืบทอดประเพณีที่งดงามต่าง ๆ ไว้จนกลายมาเป็นเทศกาลกินผักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียง อีกทั้งเป็นที่มาของชื่อเรียกประเพณีประจำจังหวัดภูเก็ตที่ว่า “ถือศีลกินผัก” นั่นเอง

เทศกาลกินเจภูเก็ต สืบทอดมานานเกือบ 200 ปี Freepik/Kritchai7752
“พิธีกินผัก” คือจะทำการบวงสรวงเทพเจ้า เพื่อขอขมา ชำระร่างกาย

เสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลกินผักภูเก็ต

เสน่ห์ของเทศกาลกินผักภูเก็ต คือ นอกเหนือจากการถือศีลกินผักแล้ว ที่นี่จะมีการทำพิธีที่ไม่เหมือนที่อื่น ๆ ด้วย

พิธีแรกที่อยากให้รู้จักกันคือ “ยกเสาโกเต้ง” หรือ “ยกเสาเทวดา” โดยจะเริ่มในเย็นวันแรกก่อนเริ่มเทศกาล ด้วยการจุดตะเกียงไฟไว้บนยอดเสา รวมทั้งสิ้น 9 ดวง และต้องจุดไว้ตลอดทั้ง 9 วัน จนกว่าพิธีจะเสร็จสิ้น

พิธีที่สอง คือ “พิธีอิ้วเก้ง” หรือ “แห่พระรอบเมือง” เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละศาลเจ้าที่ปฎิบัติสืบทอดกันมาช้านาน เสมือนเป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วอ๋องไต่ไต่ ผู้เป็นประธานของเทศกาลนี้ เพื่ออวยพรให้กับประชาชนทั่วไป

โดยจะมีขบวนม้าทรงซึ่งจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่า กิ้วอ๋องไต่เต่ จะเป็นผู้รับเคราะห์แทน เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว ม้าทรงจะเริ่มใช้อาวุธหรือวัตถุมีคมนานาชนิด ทิ่มแทงทะลุกระพุ้งแก้มของตนเอง ตามความเชื่อว่าเป็นการทรมานร่างกายแทนพี่น้องชาวภูเก็ตนั่นเอง

พิธีที่สาม คือ “พิธีโก้ยโห้ย” หรือ “พิธีลุยไฟ” เป็นพิธีกรรมเพื่อชำระพลังไม่ดีออกจากร่างกาย ซึ่งผู้ร่วมพิธีกรรมต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

ก่อนที่คืนสุดท้ายของเทศกาล จะมี “พิธีโก้ยห่าน” เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ที่จะทำหลังจากพิธีลุยไฟ โดยการตัดกระดาษเป็นรูปหุ่นหญิงชาย พร้อมกับเขียนชื่อตนเอง และวัน เดือน ปีเกิดไว้ จากนั้นต้องเดินข้ามสะพานให้บรรดาม้าทรงปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และประทับตราสัญลักษณ์หลังเสื้อสีขาวเป็นอันเสร็จพิธี

นอกจากนี้ในวันสุดท้าย คืนเดียวกันนั้น ก็จะมี “พิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่” เป็นพิธีส่งพระ ที่จะมีขบวนแห่พระไปรอบเมืองของศาลเจ้าหลาย ๆ แห่งในเมืองถูเก็ต เพื่อส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่ ผู้เป็นประธานในพิธีกลับสวรรค์ ซึ่งมักแห่ขบวนเดินทางกันมาส่งที่หน้าเสาโกเต้ง ในช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. เป็นการปิดท้ายเทศกาลด้วย ซึ่งระหว่างนั้นผู้ร่วมงานจะจุดประทัด และพลุไฟเข้าใส่ขบวนม้าทรง และพี่เลี้ยงที่หามเกี้ยวรูปพระซึ่งเรียกกันว่า "ตั่วเหลี้ยน อันเป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ่องไต่เต่" ส่วนผู้คนที่ถือศีลจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน และจุดประทัดต้อนรับตลอดสองข้างทาง

เทศกาลถือศีลกินผักปีนี้ เริ่มวันไหน-ถึงวันที่เท่าไร

โดยเทศกาลถือศีลกินผักนี้ จะจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน และ ในปีนี้ตรงกับวันที่ 3-11 ตุลาคม 2566

  • ตารางพิธีกรรมของแต่ละศาลเจ้าในภูเก็ต

ภายในงานจะมีขบวนแห่อ๊าม (ศาลเจ้า) ในภูเก็ตกว่า 30 อ๊าม และมีพิธีอิ้วเก้ง (แห่พระ) พิธีโก้ยห่าน (สะเดาะเคราะห์) พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ)และ พิธีองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ (ส่งพระ)

กำหนดการประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตปี 2567 TAT Phuket : Tourism Authority of Thailand, Phuket Office
กำหนดรวม 9 วัน 9 คืน ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตปี 2567

เส้นทางขบวนแห่พระรอบภูเก็ต

รายละเอียดเส้นทางแห่พระรอบภูเก็ต แบ่งตามรายวันและระบุตำแหน่งขอศาลเจ้าที่ผ่านก่อนหลังจากหมายเลขที่กำกับเอาไว้ โดยสัญลักษณ์รูปธงสีเหลืองจะเป้นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นออกขบวน ส่วนจุดทำพิธีจะเป็น วงกลมสีเหลือง 

ขบวนแห่พระ ในประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตปี 2567 TAT Phuket : Tourism Authority of Thailand, Phuket Office
รวมเส้นทางขบวนแห่พระ ในประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตปี 2567

ศาลเจ้ารอบภูเก็ตมีอะไรบ้าง 

รายละเอียดแผนที่ระบุเป็นศาลเจ้ารอบภูเก็ตมีทั้งหมด 39 ศาลเจ้า ระบุเป็นพิกัดในแผนที่ ดังนี้

รวมพิกัดศาลเจ้ารอบจังหวัด ภูเก็ต ในประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตปี 2567 TAT Phuket : Tourism Authority of Thailand, Phuket Office
รวมพิกัด ศาลเจ้ารอบจังหวัด ภูเก็ต ทั้งหมด 39 แห่ง ในประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตปี 2567

ธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลกินผักภูเก็ต

ชาวภูเก็ตมักปฏิบัติตัวในเทศกาลถือศีลกินผัก ดังนี้

  • งดทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสัตว์ เช่น นม ไข่ และเนย
  • งดทานผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว ต้นหอม กุยช่าย
  • งดทานอาหารรสจัด
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ผู้ที่เข้าร่วมประเพณีถือศัลกินผัก จะนิยมแต่งกายด้วยชุดสีขาว เพื่อเป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส

ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัดภูเก็ต อยากให้ลองไปชมกันสักครั้ง หรือหากอยากจะถือศีลกินผักด้วย ทางนิวมีเดีย พีพีทีวี ขออนุโมทนาบุญกับผู้อ่าน และอวยพรให้ทุกคนได้พบเจอแต่สิ่งที่ดีงามหลังจากนี้ด้วยเทอญ

ขอบคุณข้อมูลจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, โรงเรียอนุบาลเทศบาลนครภูเก็ต และ ห้องสมุดประชาชนอำเภอนายายอาม ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี

ขอบคุณภาพจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ShutterStock และ PPTV

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ