สัมภาษณ์งานอย่างไร.. ให้ได้งาน ?
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
บัณฑิตจบใหม่ต้องรู้.. 10 เคล็ดลับสัมภาษณ์งานสุดแจ่ม

จากผลสำรวจในไตรมาศที่ 4 ปี 2558 โดยสำนักสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการว่างงานของผู้ที่จบอุดมศึกษามีมากกว่า 300,000 คน และในแต่ละปีจะมีจำนวนบัณฑิตจบใหม่เพิ่มเข้ามาอีกกว่า 4 แสนคน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในการสมัครงาน
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) ได้สรุปข้อควรทำและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งาน เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อม และเสริมความมั่นใจในการสัมภาษณ์งาน ให้กับหลายๆ คน โดยเฉพาะเหล่านิสิต นักศึกษาจบใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์
DO’s (สิ่งที่ควรทำ)
ศึกษาข้อมูล – เตรียมตัวก่อนการสัมภาษณ์งานด้วยการศึกษาประวัติ รูปแบบกิจการ วัฒนธรรมองค์กร สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์
ฟังคำถามให้จบ – ไม่ควรพูดแทรกหรือรีบตอบในขณะที่ผู้สัมภาษณ์ยังถามคำถามไม่จบ ควรฟังคำถามจากผู้สัมภาษณ์ให้ครบถ้วน จากนั้นใช้เวลาในการทบทวนคำถาม และคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนตอบ
มีเหตุผลสนับสนุน – คำถามส่วนมากในการสัมภาษณ์งานมักเป็นคำถามปลายเปิด ดังนั้นผู้ให้สัมภาษณ์ควรมีเหตุผลสนับสนุนในคำตอบทุกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้คำตอบและสร้างความประทับใจในการแสดงทัศนคติกับผู้สัมภาษณ์
ตอบอย่างจริงใจ – ตอบคำถามด้วยความจริงใจ ใส่ความรู้สึกที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในคำตอบเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการสมัครงาน
เตรียมคำถาม – เมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้สอบถาม หรือหากไม่มีคำถามอะไรพิเศษ ผู้ถูกสัมภาษณ์ควรถามคำถามเกี่ยวกับลักษณะการทำงานหรือบรรยากาศการทำงานก็เป็นสิ่งที่สามารถสร้างความประทับใจได้อย่างดี
DON’Ts (สิ่งที่ไม่ควรทำ)
โกหก – สิ่งต้องห้ามอันดับหนึ่งของการสัมภาษณ์งาน การโกหกสามารถทำลายความน่าเชื่อถือทั้งหมดในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น โดยผู้สัมภาษณ์จะสังเกตได้ทั้งการแสดงออกทางแววตา และความสัมพันธ์ทางข้อมูลในจดหมายสมัครงาน ประวัติ และคำตอบในระหว่างสัมภาษณ์
พูดถึงจุดด้อย – ถึงแม้ว่าการสัมภาษณ์เราควรให้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อด้อยของตัวเอง แต่การพูดถึงจุดด้อยของตนมากเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อการสัมภาษณ์งานนัก เพราะจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของตนเองและเสียโอกาสในการสร้างความประทับใจแก่ผู้สัมภาษณ์
ถามเรื่องเงินเดือนก่อน – หากผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามคำถาม ควรให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าที่ และประสบการณ์ที่จะได้รับมากกว่าเงินค่าตอบแทนในการทำงาน
ตอบรับทุกกรณี – รับปากว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ตนไม่ชอบ อันเกิดจากการกลัวว่าจะถูกมองว่าไม่เก่ง ไม่สามารถทำได้ หากรู้ตัวเองว่าไม่ชอบอะไรแล้วนั้น ควรหาวิธีพูดด้วยเหตุผลและความนอบน้อมแทน
พาเพื่อนไปรอที่บริษัท – เพราะการพาผู้ปกครองหรือเพื่อนไปด้วยนั้นอาจถูกมองว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่โลกการทำงาน และยังขาดวุฒิภาวะที่จะรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ทางที่ดีควรให้ผู้ที่มาด้วยรออยู่ด้านนอกหรือบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเตรียมตัวที่ดีตามข้อแนะนำข้างต้นแล้ว แต่ แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ หัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ย้ำว่า ข้อแนะนำดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้สัมภาษณ์ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อการพิจารณารับเลือกเข้าทำงานด้วย อาทิ ความประทับใจครั้งแรก ความฉลาด มีไหวพริบ ความคิดริเริ่ม ความกระตือรือร้น ความขยันหมั่นเพียร ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการเรียบรู้งาน และมีจุดมุ่งหมายของชีวิต
แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ หัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้