ยื่นภาษีง่ายนิดเดียว! ป้องกันค่าปรับ หมดปัญหากับสรรพากร
การยื่นภาษีเป็นเรื่องที่หลายคนอาจรู้สึกปวดหัวหรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นหน้าที่สำคัญมาก ๆ ของคนที่มีรายได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของธุรกิจ เพราะการยื่นภาษีไม่ใช่แค่เรื่องของการทำตามกฎหมาย แต่ภาษีที่เราจ่ายให้กรมสรรพากรจะถูกนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งถนนหนทาง โรงเรียน โรงพยาบาล ที่เราได้ใช้กันทุกวัน
โดยทุกวันนี้การยื่นภาษีก็ง่ายขึ้นกว่าในอดีต เพราะกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบออนไลน์ที่ช่วยให้เราจัดการเรื่องภาษีได้จากที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่กรมสรรพากรเพื่อยื่นภาษีให้เหนื่อย แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารหายหรือถ่ายเอกสารเป็นปึก ๆ อีกด้วย เพราะแค่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวก็จัดการภาษีได้ง่าย ๆ แล้ว
ใครที่เข้าเงื่อนไขต้องยื่นภาษีบ้าง เช็กให้ชัวร์ก่อนหมดเขต!
การยื่นภาษีนั้นเป็นหน้าที่สำคัญ แต่หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะรู้ได้ไงว่าเราต้องเสียภาษี เรามาทำความรู้จักกับกลุ่มคนที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี 2568 บุคคลธรรมดากัน ซึ่งมีดังนี้
- บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือผู้มีรายได้จากแหล่งอื่น ๆ
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น กลุ่มคนที่รวมตัวกันทำธุรกิจแบบไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท แต่มีการแบ่งผลกำไรกัน
- ผู้เสียชีวิตระหว่างปีภาษี เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนการเสียชีวิตยังต้องเสียภาษี ทายาทมีหน้าที่ต้องจัดการยื่นแทน
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หมายถึง ทรัพย์สินที่ผู้เสียชีวิตทิ้งไว้และยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท ถ้ามีรายได้เกิดขึ้นก็ต้องยื่นภาษี
- วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแบบห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็ต้องยื่นในฐานะบุคคลธรรมดาเช่นกัน
รายได้เท่านี้ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่? คำนวณง่าย ๆ ก่อนยื่นจริง
การคำนวณภาษีอาจดูซับซ้อน แต่เมื่อเข้าใจหลักการพื้นฐานแล้วก็ไม่ยากอย่างที่คิด มาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน สมมติว่าคุณแก้วมีรายได้จากเงินเดือนปีละ 144,000 บาท (เดือนละ 12,000 บาท) หลังหักค่าใช้จ่าย 50% และค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 12,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 150,000 บาทตามตารางอัตราภาษี ดังนั้น คุณแก้วจึงได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ก็ควรยื่นภาษี ภงด.91 เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้
ส่วนคุณปอมีรายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์ปีละ 360,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท) หลังหักค่าใช้จ่าย 30% และค่าลดหย่อนส่วนตัวจะเหลือเงินได้สุทธิ 192,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายเสียภาษี 5% สำหรับส่วนที่เกิน 150,000 บาทแต่ไม่เกิน 300,000 บาท โดยส่วนแรก 150,000 บาทได้รับการยกเว้น ส่วนที่เหลือ 42,000 บาท (192,000 - 150,000) คิดภาษี 5% เท่ากับ 2,100 บาท
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง? เช็กลิสต์ก่อนยื่นภาษีปีนี้
ก่อนยื่นภาษี 2568 ออนไลน์ ควรตรวจสอบสิทธิ์ลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เพราะค่าลดหย่อนเหล่านี้จะช่วยลดภาระภาษีได้มากเลยทีเดียว มาดูกันว่าสิทธิ์ลดหย่อนมีอะไรบ้าง
- ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว : ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท, คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ 60,000 บาท, บุตรคนละ 30,000 บาท (คนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ได้ 60,000 บาท), ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร สูงสุด 60,000 บาทต่อครั้ง, ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท, ค่าอุปการะคนพิการ คนละ 60,000 บาท
- ลดหย่อนประกันและการลงทุน : เบี้ยประกันชีวิต สูงสุด 100,000 บาท, เบี้ยประกันสุขภาพ สูงสุด 25,000 บาท, เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สูงสุด 15,000 บาท, กองทุน RMF สูงสุด 30% ของรายได้ (ไม่เกิน 500,000 บาท), กองทุน SSF สูงสุด 30% ของรายได้ (ไม่เกิน 200,000 บาท), ดอกเบี้ยบ้าน สูงสุด 100,000 บาท
- ลดหย่อนเงินบริจาค : บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา และโรงพยาบาลรัฐผ่าน e-Donation ได้ 2 เท่า (ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย), บริจาคทั่วไป ตามจ่ายจริง (ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย)
- ลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ : Easy E-Receipt สูงสุด 50,000 บาท, เที่ยวเมืองรอง สูงสุด 15,000 บาท, ค่าซ่อมบ้านจากอุทกภัย สูงสุด 100,000 บาท, ค่าซ่อมรถจากอุทกภัย สูงสุด 30,000 บาท
โดยสิทธิ์ลดหย่อนเหล่านี้จะถูกนำไปหักออกจากรายได้พึงประเมิน เพื่อให้ได้รายได้สุทธิที่ต่ำลงก่อนนำไปคำนวณภาษี ยิ่งเรามีค่าลดหย่อนมาก ก็จะยิ่งช่วยประหยัดภาษีได้มากขึ้น
ยื่นภาษีเมื่อไหร่ต้องรู้! รวมกำหนดการและขั้นตอนสำคัญที่ห้ามพลาด
ยื่นภาษีปี 2568 ได้ถึงวันไหน? สำหรับปีนี้ กรมสรรพากรได้เปิดให้ยื่นภาษีออนไลน์ผ่าน D-MyTax ได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 ส่วนใครที่ต้องการยื่นแบบกระดาษสามารถทำได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 เท่านั้น โดยทุกคนที่มีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องยื่นภายในระยะเวลาดังกล่าว เพื่อแสดงรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2567 ที่ผ่านมา
ถ้าไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ นอกจากนี้ ยังมีโทษปรับทางอาญาซึ่งโทษสูงสุดถึงการจำคุก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับและบทลงโทษ แนะนำให้เตรียมเอกสารและข้อมูลให้พร้อมแล้วรีบยื่น เพราะระบบอาจมีปัญหาเนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมากในช่วงท้าย ๆ
วิธียื่นภาษีแบบง่าย ๆ ด้วยตัวเองที่คุณก็ทำได้
การยื่นภาษีอาจดูเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับหลายคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเข้าใจขั้นตอนพื้นฐานและเตรียมเอกสารให้พร้อม คุณก็สามารถจัดการเรื่องภาษีได้ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญหรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการจ้างคนอื่นมาดำเนินการแทน ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกทั้งแบบยื่นเอกสารด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากร และแบบออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยในหัวข้อนี้จะแนะนำวิธียื่นทั้งสองรูปแบบอย่างละเอียด ดังนี้
ยื่นภาษีรูปแบบเอกสาร
การยื่นภาษีในรูปแบบเอกสารเป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่หลายคนคุ้นเคยอยู่แล้ว โดยผู้เสียภาษีสามารถเดินทางไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตตามที่สะดวก วิธีนี้มีข้อดีคือคุณจะได้พบกับเจ้าหน้าที่โดยตรง จึงสามารถสอบถามข้อสงสัยและได้รับคำแนะนำแบบตัวต่อตัว ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ยื่นครั้งแรกหรือมีข้อสงสัยบางอย่างที่ต้องการคำอธิบายหรือคำแนะนำอย่างละเอียด อีกทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการกรอกข้อมูลเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารก่อนส่งได้
สำนักงานสรรพากรเปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ โดยมักมีคนมาใช้บริการเป็นจำนวนมากในช่วงใกล้หมดเขต ดังนั้น ควรเผื่อเวลาให้เพียงพอเพื่อลดความเร่งรีบ นอกจากนี้ การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เช่น แบบฟอร์มภาษีที่เกี่ยวข้อง เอกสารรายได้ และหลักฐานค่าลดหย่อน จะช่วยให้ขั้นตอนดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ยื่นภาษีออนไลน์
- เข้าระบบผ่านเว็บไซต์ efiling.rd.go.th โดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีและรหัสผ่าน ถ้ายังไม่มีบัญชี สามารถสมัครสมาชิกใหม่ได้ทันที พร้อมยืนยันตัวตนด้วยระบบ OTP
- เลือกประเภทแบบฟอร์มที่ต้องการ เช่น ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีรายได้หลายประเภท จากนั้นเลือกวิธีการกรอกข้อมูล จะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในระบบหรือกรอกใหม่เองก็ได้
- ระบุข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วน ทั้งชื่อ-นามสกุล วันเกิด ที่อยู่ติดต่อ และข้อมูลเกี่ยวกับกิจการส่วนตัว (ถ้ามี) เพื่อให้การคำนวณภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง
- กรอกข้อมูลรายได้ทั้งหมดในรอบปีภาษี ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน รายได้จากการรับจ้างอิสระ รายได้จากทรัพย์สิน การลงทุน หรือมรดก
- ระบุรายการลดหย่อนภาษี เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ครอบครัว การศึกษาบุตร การดูแลบิดามารดา การประกันชีวิต หรือการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ
- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมด ถ้าพบข้อผิดพลาดสามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ เมื่อแน่ใจแล้วจึงกดยืนยันการยื่นภาษี online
ยื่นภาษีแบบถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงจากการโดนตรวจสอบในอนาคต
การยื่นภาษีเป็นหน้าที่สำคัญของทุกคนที่มีรายได้ โดยผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปีจะต้องยื่นภาษี ซึ่งเงินภาษีที่เราจ่ายให้กรมสรรพากรจะถูกนำไปพัฒนาประเทศ ทั้งสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน โดยในการคำนวณภาษีจะมีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนครอบครัว การลงทุนในกองทุน หรือการทำประกัน
ทุกวันนี้การยื่นภาษีสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การยื่นเอกสารด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรและการยื่นผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ หากไม่ยื่นตามกำหนดจะมีโทษปรับและต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ดังนั้น อย่าลืมตรวจเช็กข้อมูลให้ครบถ้วนและถูกต้องก่อนยื่น พร้อมทั้งดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับที่อาจเกิดขึ้น