กูรูไอทีวิเคราะห์โมเดล “Live” แบบไหนปัง!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังเครือข่ายสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคนทั่วโลก เปิดบริการถ่ายทอดสดผ่านฟังก์ชั่น Facebook Live ได้ไม่นานจนเป็นที่ฮือฮา ทำให้ใครๆ ก็ถ่ายทอดสดกิจกรรมและชีวิตได้

ล่าสุด เฟซบุ๊กทยอยเปิดให้ผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ใช้งานฟังก์ชั่น Live แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเปิดให้เฉพาะผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการไอโอเอสใช้งาน ฉะนั้นจำนวนผู้ใช้งานฟังก์ชั่น Live ของเฟซบุ๊กจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านบริษัท BIGO TECHNOLOGY PTE.LTD. ผู้ให้บริการ “BIGO LIVE” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์แบบวิดีโอสตรีมมิ่งที่จะให้ผู้ใช้ได้แสดงทักษะความสามารถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้องเพลง เต้นรำ ปรุงอาหาร หรือพูดคุย ตอบสนองกับบรรดาผู้ชมได้แบบสดๆ หรือ เรียลไทม์ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกกดชม หรือติดตามบุคคลที่ชื่นชอบ (ไอดอล) ที่ตัวเองสนใจได้แบบง่ายๆ

แอพพลิเคชั่นดังกล่าวรองรับการใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส ซึ่งทำการอัพเดทครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.59 มียอดดาวน์โหลดใช้งานแล้ว 1 ล้านดาวน์โหลด มีเรตอายุการใช้งานตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป (12+) การลงทะเบียนเข้าใช้ BIGO LIVE มีให้เลือก 3 ช่องทาง คือ Facebook , Twitter หรือ Google+ ส่วนชื่อ เพศ ภาพประจำตัว จนถึงรายละเอียดส่วนตัว สามารถเข้าไปปรับแก้ได้ ขณะที่การใช้งานหลักๆ ของแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือการเป็นผู้ชม และการเปิด Live

วันที่การถ่ายทอดสดชีวิตกลายเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย และมีแอพพลิเคชั่นมาให้ใช้งานแบบฟรีๆ มากมาย แนวโน้มการ Live จากนี้จะเป็นอย่างไร ไปฟังกูรูด้านไอทีวิเคราะห์กัน...

นายสิทธิพล พรรณวิไล ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท The Cheese Factory จำกัดและเปิดโรงเรียนสอนเขียนโปรแกรมสำหรับนักพัฒนามืออาชีพกล่าวถึงแอพพลิเคชั่นที่ถ่ายทอดสดชีวิต ว่า ในแง่ฟีเจอร์ถ่ายทอดสด (Live) ตอนนี้บริการของค่ายต่างๆ ค่อนข้างเหมือนกัน ก่อนหน้า BIGO LIVE ตัวที่ดังมากๆ ในไทยจนติดตลาดคือ Talk Talk ซึ่งติดลมบนเรียบร้อย

ดังนั้นขอแบ่งแอพพลิเคชั่น Live เป็น 2 กลุ่ม 1.แอพพลิเคชั่นทำ Live โดยเฉพาะ 2.Facebook Live ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ แม้มีฟีเจอร์เหมือนกัน แต่สังคมค่อนข้างต่างกัน เนื่องจากผู้ใช้ Facebook มีความเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ปกติ และมีความสนใจหลากหลาย จึงเกิดการ Live กระจัดกระจาย คนดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่พอเป็น Talk Talk หรือ BIGO LIVE จะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ วัยรุ่น คนสวย คนหล่อ เปิดช่องทางให้คนเข้ามาตามติดชีวิตได้ จะเรียกว่าเป็นเวทีแจ้งเกิดก็ไม่ผิด เพราะเป็นใครก็ได้ คนที่เข้ามาใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ก็คาดหวังจะเจอคนเหล่านี้จึงถือว่าสมประโยชน์

ขณะที่ Facebook Live จะมีพฤติกรรมผู้ใช้งานอีกแบบ คือ คนไม่ได้ตั้งใจจะเข้า Facebook เพื่อดู Live แต่ถ้าบังเอิญเจอคนที่ชอบแล้วเขากำลัง Live เข้าพอดีเปิดดูสักหน่อยก็ได้ ดังนั้นคนที่จะประสบความสำเร็จกับการทำ Facebook Live จริงๆ ต้องมีฐานคนติดตามอยู่แล้วประมาณหนึ่ง เช่น พวกศิลปิน รวมทั้งใช้ในเชิงมืออาชีพ (Professional) มากกว่า ไม่ได้เน้นแค่ความบันเทิง เช่น สอนเทรดหุ้น สอนภาษา

หากลงลึกรายละเอียดอีกนิด ดีเจ (คนที่ทำ Live) ในแอพพลิเคชั่น Talk Talk จะมีรายได้ที่เรียกว่าเยอะมาก ซึ่งดึงดูดให้คนอยากจะไป Live ที่นั่น คนดังๆ ได้ปีละเป็นล้านบาท ส่วน Facebook Live ยังไม่มีสิ่งนี้ ทำให้เชื่อว่าคนที่ใช้ Talk Talk อยู่แล้วคงจะไม่มาใช้ Facebook Live เร็วๆ นี้ เพราะยังหารายได้จาก Facebook Live ไม่ได้

ส่วน BIGO LIVE ก็พยายามลอกแบบการใช้งานมาจาก Talk Talk แต่มาช้ากว่า  ฐานผู้ใช้จึงยังน้อยกว่า โมเดลการหาเงินก็เลยเหมือนจะยังไม่ได้รุ่งเรืองเหมือน Talk Talk คงจะสู้ตลาดในไทยเหนื่อยเลยทีเดียว

สรุป อนาคตของแอพพลิเคชั่น Talk Talk และ BIGO LIVE ยังไปได้อีกไกล  เพราะเม็ดเงินหมุนเวียนเยอะ ส่วน Facebook Live ก็ไปได้ คงเป็นอีกตลาดหนึ่งที่คนไทยคงเล่นเยอะแต่อนาคตจะออกไปในทิศทางไหนต้องรอดูพฤติกรรมของผู้ใช้งานกันอีกที แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถทำโมเดลธุรกิจแบบ Talk Talk ได้ เพราะมีเรื่องกฎหมายสากลเข้ามาเกี่ยวข้อง น่าจะเป็นเรื่องของการ Live เชิงผู้มีอิทธิพลโน้มน้าวชักจูงใจ (Influencer) มากกว่า เช่น วงดนตรี บล็อกเกอร์ดังๆ และดารา ส่วนเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและความเป็นส่วนตัว Facebook Live ยังปลอดภัยกว่า

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://medium.com/facebook-design/live-for-mentions-cb91b8a59a27#.rjhxd45t7

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ