รู้หรือไม่?! เลือดบริจาคทุกถุงมีต้นทุน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

จากการ "การเดินทางของเลือด" ในสัปดาห์ที่แล้ว มาถึงอาทิตย์นี้ ผู้สื่อข่าว "PPTV" ยังคงตามติดในเรื่องเลือดบริจาค จากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยคราวนี้ จะพาไปเจาะประเด็นลึกถึง "ต้นทุนต่อถุงของเลือดบริจาค" ที่เป็นเหตุผลให้ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตฯ ต้องออกเกณฑ์คัดเลือกผู้บริจาคแบบคัดแล้วคัดอีก เพื่อให้ได้ซึ่งเลือดคุณภาพส่งถึงมือผู้ป่วย


เบื้องหลังของ "เลือดบริจาค 1 ถุง" มีอะไรซ่อนอยู่ ...ชวนมาดูกัน!





เลือดทุกถุงมีต้นทุนนะจ๊ะ


แม้ว่าเลือดทุกหยดจาก "ผู้บริจาค" ที่ต้องการแบ่งปัน "ชีวิต" ให้เพื่อนมนุษย์จะเสมือนได้ฟรี แต่จริง ๆ แล้ว พญ.สร้อยสอางค์ อธิบายชัดว่า เลือดบริจาคทุกถุง/ยูนิต มีต้นทุนที่เรียกว่า "ค่าอุปกรณ์" เกือบ 1,000 บาท ที่ทางศูนย์ฯ จะเรียกเก็บกับสถานพยาบาลที่มาขอเลือดไปใช้ ประกอบด้วย


1.ถุงใส่เลือดขนาด 350-450 ซีซี ราคา 300-400 บาท


2.ค่าตรวจเลือดถุงละ 500 บาท


3.น้ำยาตรวจเลือด ขวดละ 80 บาท






"ดังนั้น ถ้าเลือดที่ได้รับบริจาคมาเป็นเลือดเสีย ซึ่งปัจจุบันตั้งมาตรฐานให้เป็นเลือดเสียได้แค่ 2
% จากจำนวนผู้บริจาค 600-800 คนต่อวัน จะมีเลือดที่ใช้ไม่ได้ 12-16 ถุง จำนวนดูเหมือนน้อย แต่หากในแง่การสูญเสียโอกาสมอบชีวิตใหม่ให้ใครอีกหลายคน เพราะเลือด 1 ถุง สามารถแบ่งการใช้งานได้ 4 ประเภท หรือแม้แต่ต้นทุนที่ต้องเสียเปล่าต่อวันถึง 12,000-16,000 บาท ตรงนี้ป็นสิ่งที่ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ ต้องการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด" ผอ.ศูนย์บริการโลหิตฯ ระบุ


ทั้งนี้ พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวต่อด้วยว่า เดิมทีนั้น เพดานขั้นต่ำที่ยอมให้มีเลือดเสียจากการบริจาคอยู่ที่ 5% แต่ตนคิดว่าไม่คุ้มค่าทั้งในแง่งบประมาณและโอกาสทางการรักษา จึงทำระบบคัดกรองผ่านการทำแบบสอบถามถึง 30 ข้อ ให้ผู้บริจาคได้ประเมินตัวเอง ซึ่งได้ผลที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี พบด้วยว่าเลือดของคนไทยในปัจจุบัน มีคุณภาพและไร้โรคมากขึ้น




พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผอ.ศูนย์บริการโลหิตฯ


บริจาคเลือดต่อชีวิตผู้อื่นทั้งที ...ถามตัวเองให้แน่ว่าพร้อมมั้ย!!


"ขั้นตอนแรกหากคิดจะบริจาคโลหิต ขอให้ถามตัวเองให้แน่ใจว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่ให้เลือดของตัวเองติดเชื้อหรือไม่"
ข้อแนะนำที่ดูเหมือนง่ายแต่กลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่ง พญ.สร้อยสอางค์ ให้เหตุผลว่า ระบบคัดกรองที่ดีที่สุดคือตัวเอง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ หรือไม่


ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะแก่การเป็นผู้บริจาคโลหิต ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ กำหนดไว้ว่า ขอให้ผู้บริจาคมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป น้ำหนักได้มาตรฐานที่ 45 กก. และมีสุขภาพดี ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มคนที่ตรวจสุขภาพทุกปี หรือบริจาคในช่วงที่อายุยังน้อยก็จะดีที่สุด เนื่องจากปลอดภัยและคุณภาพของเลือดยังครบสมบูรณ์






"ที่กังวลมากกว่าก็คือเปอร์เซนต์คนมาบริจาคเลือด จากสถิติพบว่าประชากรไทยทั้งประเทศที่ยินยอมมาบริจาคเลือดมีอยู่แค่ 3
% เท่านั้น และมักมาบริจาคตามกระแส ไม่มีความเสถียรตลอดทั้งปี ในจำนวนนี้คิดเป็นการเข้าบริจาคใน กทม.ราว 7% ทำให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติต้องประสบปัญหาเลือดช็อตหมดสต็อกอยู่บ่อยครั้ง แต่ในต่างประเทศการบริจาคเลือด เปรียบได้กับหน้าที่ของพลเมืองที่ทุกคนพร้อมใจกันทำ บางประเทศออกเป็นนโยบายเหมือนให้เกณฑ์ทหารว่าทุกคนต้องบริจาค ทำให้มียอดผู้บริจาคพุ่งสูงถึง 10% จากฐานประชากรทั้งประเทศ" ผอ.ศูนย์บริการโลหิตฯ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาอีกด้าน พร้อมกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาไว้ว่า


จึงเป็นหน้าที่ของทั้งกาชาดและสังคม ที่ต้องช่วยกันกระตุ้นให้คนอีก 97% ที่หายไป ให้ออกมา บริจาคโลหิตเพื่อ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


ส่วนกลเม็ดเด็ดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติทำขึ้น เพื่อจูงใจให้คนกลัวเข็มหรือกลุ่มคนไม่มีเวลาว่างมาบริจาคเลือดนั้น จะเด็ดดวงได้ประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างไร รวมถึงกรุ๊ปเลือดไหนของคนไทยมีคุณภาพดีที่สุด และกรุ๊ปไหนตกมาตรฐาน ติดตามได้ในตอนต่อไป.





ภาพประกอบ : women.mthai.com, board.postjung.com, www.dek-d.com, www.med.cmu.ac.th

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ