ผม สมิทธิ์ สุติบุตร์ คนที่รู้จักผมดีพอควร จะรู้ว่าผมเป็นช่างภาพที่ใช้อุปกรณ์หลากรูปแบบ หลายยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับโจทย์ในการถ่ายภาพว่าต้องการมุมมองแบบไหน? สื่อสารเรื่องอะไร?
ช่วงนี้กล้อง Mirrorless แบบ Full Frame กำลังมาแรง พอดีได้กล้อง Canon EOS R มาให้ลอง พร้อมเลนส์ซูมมาตรฐาน RF 24-105 mm f/4L USM แต่เนื่องจากผมถ่ายสัตว์ป่าเป็นหลัก เลยขอยืมเลนส์ EF 300 mm f/2.8L IS II USM มาอีกตัว ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับ EOS R ด้วยการต่อ Mount Adapter EF-EOS R
ต้องยอมรับว่าปกติผมไม่ค่อยได้ใช้กล้อง Canon บ่อยนัก จึงถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ทดลอง จะว่าไปแล้วระบบการทำงานของกล้องส่วนใหญ่มีพื้นฐานใช้งานไม่แตกต่างกันนัก ลองจับไม่นานก็เข้ามือและเข้าใจ
มีโอกาสออกทะเลไปถ่ายภาพวาฬบรูด้ากลางอ่าวไทยรูปตัว ก. โชคไม่ดีนักที่ปีสองปีที่ผ่านมา วาฬไม่ค่อยอ้าปากขึ้นกินปลาลูกเหยื่อเหนือผิวน้ำ ที่ผมเรียกว่า “ท่ามาตรฐาน” เข้าใจว่าปลากะตักที่เป็นอาหารโปรดมีปริมาณน้อยลง วาฬต้องหันไปกินปลาชนิดอื่นที่อยู่ใต้ผิวน้ำลึกลงไป จึงจำเป็นต้องใช้วิธีกินใต้น้ำหรือบางครั้งก็ตะแคงกิน แต่การว่ายน้ำพ่นลมหายใจและโชว์ครีบหลังนี่มีให้เห็นตลอด เพราะวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจเป็นระยะ
ปัญหาที่พบบ่อยตอนถ่ายวาฬบรูด้าคือ หากทะเลมีคลื่นมาก แทนที่กล้องจะโฟกัสไปที่ตัววาฬ กลับโดนเกลียวคลื่นสับขาหลอก มีคนโวยวายว่าน้ำชัด-วาฬไม่ชัดให้ได้ยินเสมอ แต่กล้อง EOS R + เลนส์ EF 300 mm f/2.8L ก็ทำงานไม่ค่อยพลาด แม้จะผ่านอะแดปเตอร์ก็ตาม
บางครั้งวาฬโผล่ข้างเรือในระยะใกล้ จะเปลี่ยนเลนส์สั้นก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เลนส์ 300 mm. ในมือจึงต้องทำหน้าที่ไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภาพอย่างล้น