ความขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน" กระทบการค้าไทย 1.24 หมื่นล้านบาท
ความตรึงเครียดระหว่าง "รัสเซีย-ยูเครน" กำลังเสี่ยงต่อภาวะสงคราม ขณะที่ไทยได้รับผลโดยตรงไม่มากนัก เนื่องจากไทย-ยูเครน มีการค้าระหว่างกันน้อย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเครน ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจมีมายาวนานตั้งแต่ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มีการลงนามความตกลงกันหลายฉบับในทุก ๆ ด้าน
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ยูเครนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในเครือรัฐเอกราชรองจากสหพันธรัฐรัสเซีย โดยในปี 2550 มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 264.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าการค้าของปี 2549 (ค.ศ.2006) ทั้งปี คือ 138.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้จ่อ 100 เหรียญ จากความตรึงเครียด"รัสเซีย-ยูเครน"
5 ผลกระทบใหญ่ทั่วโลกที่ "ต้องรู้" หากรัสเซียบุกยูเครน
รัสเซียชี้จะใช้การทูตแก้วิกฤตยูเครนต่อ
ในปี 2550 ไทยส่งออก 150.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เครื่องไฟฟ้า ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และไทยนำเข้า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า สินแร่โลหะอื่นๆ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์
ยูเครนยังเป็นตลาดใหม่ที่นักลงทุนชาวไทยให้ความสนใจน้อย โดยนอกจากอุปสรรคในการขนส่งสินค้า ซึ่งใช้เวลานานกว่าเดือน และมีต้นทุนสูงแล้ว ก็ยังขาดข้อมูลในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน ดังนั้น นักธุรกิจไทยจึงมีความสนใจในตลาดนี้ค่อนข้างน้อย เช่นเดียวกับนักธุรกิจยูเครนที่มีความสนใจในตลาดของไทยน้อยเช่นกัน
การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเทียบการค้าต่างประเทศของไทยทั้งหมด โดยข้อมูลค่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2564 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 12,428.42 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปยูเครน 4,228.78 ล้านบาท และนำเข้า 8,199.64 ล้านบาท ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 3,970.86 ล้านบาท
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับยูเครนตั้งแต่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตตามลำดับ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปลายปี 2534โดยสาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งเคยรวมเป็นสหภาพโซเวียต ได้แยกตัวออกเป็นอิสระ และประกาศตัวเป็นเอกราชรวม 12 ประเทศ ไทยได้ให้การรับรองเอกราชของประเทศเหล่านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534
ต่อมาไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 โดยให้อยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และล่าสุดในปี 2550 ได้แต่งตั้งนายมิโคโล ราดุดสกี (Mykhajlo Radoutskyy) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำยูเครน
ส่วนยูเครนได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 โดยมีนายอีกอร์ ฮูเมนนี (Ihor Humennyi) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย และมีนายปรีชา ถิรกิจพงศ์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ยูเครนประจำประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทวิภาคีดำเนินไปอย่างราบรื่น มีกลไกที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับหนึ่ง โดยมีความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission) ระหว่างไทยกับยูเครน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2545 เป็นกลไกหลักในการพัฒนาความสัมพันธ์
ยูเครนขอเปิดประชุมกับรัสเซียภายใน 48 ชม.
ความตกลงที่สำคัญกับไทย
ความตกลงสำคัญที่ได้ลงนามแล้ว
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครน (ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2541)
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-ยูเครน (ลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2545)
- ความตกลงว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547)
- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547)
- อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไทยและหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยูเครน เกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวของกับการฟอกเงิน (ลงนามเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548)
การเยือนที่สำคัญ
พระราชวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 15-23 พฤษภาคม 2532 เสด็จฯ เยือนยูเครนอย่างเป็นทางการในขณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
รัฐบาล
- วันที่ 16-22 พฤษภาคม 2531 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนยูเครนอย่างเป็นทางการในขณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
- เดือนสิงหาคม 2536 คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนยูเครน เพื่อสำรวจลู่ทางการค้า
- วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2544 นายรังสรรค์ พหลโยธิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก นำคณะเยือนยูเครนในโครงการสำรวจเศรษฐกิจยูเครน
- วันที่ 2-5 กรกฎาคม 2546 นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเยือนยูเครนเพื่อหารือถึงลู่ทางเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบินและการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ยูเครน
- วันที่ 26-28 สิงหาคม 2546 นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เยือนรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน
- วันที่ 22-28 กันยายน 2546 นายวิทยา มะเสนา ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-ยูเครน และคณะเยือนยูเครนในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทยกับยูเครน
- วันที่ 9-12 มิถุนายน 2547 พล.อ.อ. คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน Antonov ของยูเครน
- วันที่ 20-22 ตุลาคม 2547 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนพิเศษของรมว.กต.ในเรื่องอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเดินทางเยือนยูเครน เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากยูเครนต่อร่างข้อมติในเรื่องดังกล่าว
- วันที่ 13-22 พฤษภาคม 2550 พลเอกวินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เดินทางเยือนยูเครน เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการทหารและวิชาการ และสำรวจศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมทางการทหารของยูเครน
- วันที่ 12-18 มิถุนายน 2550 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนยูเครน เพื่อพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเครน
เปิด 3 เส้นทาง รัสเซียอาจใช้บุกยูเครน หลังเจรจาการทูตไม่คืบ
ฝ่ายยูเครน
- เดือนพฤษภาคม 2536 ผู้แทนธนาคารชาติยูเครนร่วมโครงการฝึกอบรมด้านการธนาคาร ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ
- เดือนพฤศจิกายน 2536 นาย Golubova Alexei Grigorevich รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยูเครนเยือนไทยในฐานะแขกของภาคเอกชน
- วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2537 นาย Alexandre Makarenko รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน และคณะเยือนไทยเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2540 นาย Victor Myntyan ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครนนำคณะนักธุรกิจ 15 คนเยือนไทย และพบปะหารือกับสภาหอการค้าไทย
- วันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2541 นาย Anatoliy K. Orel รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2542 นาย Olexander I. Maidannyk รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนร่วมพิธีเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ยูเครนประจำไทย
- วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2545 นาย Olexandr Shlapak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของยูเครน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) กับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น
- วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 นาย Volodymyr Yelchenko รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเยือนไทยก่อนเข้าร่วมการประชุม NAM ที่มาเลเซีย
- วันที่ 11 มีนาคม 2546 นาง Lyudmyla M. Kuchma ภริยาประธานาธิบดียูเครนเยือนไทยเป็นการส่วนตัว และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เกี่ยวกับโครงการสาธารณสุขต่างๆ ในพระอุปถัมภ์
- วันที่ 21-25 ธันวาคม 2546 นาย Valeriy Pyatnytskiy รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเข้าร่วมสหภาพยุโรปอันดับหนึ่ง และคณะ เยือนไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation - JC) ไทย-ยูเครน และเจรจาพิธีสารทวิภาคีว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของยูเครนกับกระทรวงพาณิชย์
- วันที่ 9-11 มีนาคม 2547 นาย Leonid Kuchma ประธานาธิบดียูเครนและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเป็นการเยือนระดับผู้นำประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี 2535
- วันที่ 8-12 พฤษภาคม 2550 นาย Valeriy Pyatnitskyi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเครนเยือนไทย เพื่อหารือด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับนาย เกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเข้าพบหารือกับนายปกศักดิ์ นิลอุบล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการจัดการประชุม JC ไทย-ยูเครน ครั้งที่ 1 ด้วย
ที่มาข้อมูล: กระทรวงการต่างประเทศ