หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า แนะวิธีดูแลตัวเอง - การใช้ชีวิตประจำวัน
เปิดแนวทางปฏิบัติหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทั้งการดูแลตนเอง การใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากการดูแลและเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว การฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกและข้อ จำเป็นที่จะต้องใส่ใจดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อให้บาดแผลจากการผ่าตัดฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตให้น้อยที่สุด โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
8 พฤติกรรมทำลาย "ข้อเข่า" รู้แล้วรีบปรับเลี่ยงป่วยก่อนวัยอันควร
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการ "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม"
การดูแลแผลผ่าตัด
หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลผ่าตัดโดยตรง การเปลี่ยนผ้าปิดแผลผ่าตัดครั้งแรกจะทำโดยแพทย์ผู้ทำผ่าตัด โดยจะเปลี่ยนเป็นแผ่นปิดแผลแบบกันน้ำ โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมละลายและปิดทับด้วยเทปยึดผิวหนัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตัดไหม แพทย์ผู้ดูแลจะแกะแผ่นปิดแผลกันน้ำและเทปยึดติดผิวหนังประมาณ 14 – 20 วันหลังผ่าตัด หลังจากนั้นสามารถอาบน้ำและสัมผัสแผลได้แล้ว
อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้แช่น้ำในอ่างจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายดี โดยประมาณ 5 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ในกรณีที่แผ่นปิดแผลหลุดออกก่อนเวลาพบแพทย์สามารถทำความสะอาดบริเวณรอบแผลผ่าตัดและปิดแผ่นปิดแผลกันน้ำอันใหม่แทนอันเดิมได้ หรือไปทำแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน
รู้ลึก "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม" เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ได้คุณภาพชีวิตที่ดีคืนมา
รู้ลึกอาการ "ข้อเข่าเสื่อม" โรคที่พบบ่อยในกลุ่มสูงวัย-นักกีฬา
ห้ามแกะแผ่นปิดแผลออกเองโดยเด็ดขาด
หากสังเกตว่าแผลซึมมากขึ้น มีอาการแดงมากขึ้น หรือปวดมากขึ้นรอบ ๆ แผลผ่าตัด กรุณาติดต่อทีมแพทย์ผู้ดูแล
*หากท่านรู้สึกมีไข้หรือไม่สบาย กรุณาติดต่อทีมแพทย์ผู้ดูแล
อาการบวมและรอยช้ำ
อาการบวมและรอยช้ำสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติในขาข้างที่ผ่าตัดและจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจนานหลายสัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ หากทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายแล้วทำให้อาการบวมมากขึ้นให้นอนแล้วยกขาขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจ การประคบเย็นสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ให้ประคบบริเวณแผลผ่าตัดประมาณ 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ร่วมกับการยกขาสูงกว่าระดับหัวใจจะช่วยลดอาการปวดและบวมลงได้ดี
บรรเทาอาการปวด
ปกติแล้วหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถรู้สึกถึงอาการปวดได้ ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวด ซึ่งจะพอดีกับการนัดตรวจติดตามครั้งหน้า ยาแก้ปวดใช้เวลาก่อนออกฤทธิ์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นควรรับประทานยาก่อนที่จะมีอาการปวด ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยาแก้ปวดและห้ามขับรถขณะใช้ยาแก้ปวด หากต้องการยาแก้ปวดเพิ่มเติมก่อนถึงวันนัดตรวจติดตามครั้งต่อไป กรุณาติดต่อแพทย์ผู้ดูแล
ควบคุมความเจ็บปวด
- รับประทานยาแก้ปวดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเริ่มทำกายภาพบำบัด
- ค่อย ๆ ลดการใช้ยาแก้ปวดจนเหลือแค่พาราเซตามอล
- เปลี่ยนท่าทางทุก ๆ 45 นาทีตลอดวัน
- ประคบเย็นบริเวณแผลผ่าตัดจะช่วยลดอาการปวดและบวมได้ สามารถใช้การประคบเย็นก่อนและหลังการออกกำลังกาย
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
- ผู้ป่วยอาจมีความอยากอาหารลดลง ซึ่งจะกลับมาเป็นปกติในไม่ช้า ควรดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ไม่ควรนอนกลางวันหรืองีบช่วงกลางวันมาก เนื่องจากอาจทำให้นอนไม่หลับในเวลากลางคืนได้
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าพละกำลังน้อยลงกว่าปกติในช่วงเดือนแรกหลังผ่าตัด
การอาบน้ำ
ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเช็ดตัวในช่วงแรกเมื่อกลับบ้าน ทีมแพทย์ผู้ดูแลจะให้คำแนะนำว่าเมื่อไรสามารถอาบน้ำได้
การนั่ง
นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและที่วางแขน เบาะเก้าอี้ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้มือช่วยยันที่วางแขนเพื่อช่วยตอนลุกขึ้นยืน ห้ามนั่งเก้าอี้นั่งเตี้ยหรือชักโครกที่มีระดับต่ำ หากนั่งนานกว่า 30 นาทีโปรดบริหารด้วยการขยับข้อเท้าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต
อาหารหลังผ่าตัด
การรับประทานอาหารให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอและช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูง ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่อยากอาหารได้ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ถ้ารู้สึกไม่อยากอาหาร แนะนำให้แบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 – 6 มื้อต่อวัน
คำแนะนำ: ทีมแพทย์ผู้ดูแลอาจให้คำแนะนำอื่นเพิ่มเติม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ติดต่อทีมแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการบวม แดง และปวดมากขึ้นบริเวณที่ผ่าตัด
- มีลักษณะการติดเชื้อ
- มีแผลซึมหรือเลือดไหลออกจากแผลมากขึ้น
- ปวด ตึง หรือกดเจ็บบริเวณน่องขา
- ไม่สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายใด ๆ ได้
*หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แขนขาอ่อนแรง สับสน ซึมลง หายใจไม่ออก กรุณามาโรงพยาบาลทันที*
“ปวดคอหรือหลังเรื้อรัง” รักษาเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปถึงจุดผ่าตัด
เมื่ออาการ “ข้อเข่าเสื่อม” ไม่ได้เป็นเฉพาะคนสูงวัย
แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคือ การเพิ่มองศาการเหยียดงอข้อเข่าให้มากขึ้น ทีมกายภาพบำบัดจะช่วยและสอนให้ปฏิบัติเพื่อออกกำลังในทุก ๆ วัน เข่าควรจะงอได้ประมาณ 90 องศาก่อนออกจากโรงพยาบาล (3 – 5 วันหลังผ่าตัด) และเหยียดได้ตรงภายใน 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด โดยทั่วไปท่ายืนหรือนอนจะทำให้เหยียดเข่าได้ง่ายขึ้น และท่านั่งจะทำให้งอเข่าได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพข้อเข่าให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีเช่นเดิม โดยมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1.หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยควรวางหมอนหนุนขา ยกปลายเท้าข้างที่ผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม และฝึกกระดกปลายเท้าขึ้นลงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
2.หลังผ่าตัดวันที่ 1 จะมีการประคบเจลเย็นบริเวณแผลผ่าตัดเพื่อลดบวม ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อขา งอขา เหยียดขา ในรายที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วจะได้ฝึกยืนลงน้ำหนักและหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Walker) ห้ามเดินบนพื้นไม่เรียบหรือพื้นที่ขรุขระ เช่น สนามหญ้า
3.หลังผ่าตัดวันที่ 2 นักกายภาพบำบัดจะให้ฝึกเดิน ฝึกการเหยียดเข่า-งอเข่าอย่างต่อเนื่อง หากเดินได้ดีจะมีการฝึกใช้ห้องน้ำเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยยังคงต้องนอนยกขาสูงและประคบเจลเย็นที่หัวเข่าเพื่อลดบวม
4.หลังผ่าตัดวันที่ 3 ถ้าฝึกเดินในห้องได้ดีแล้ว นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยเดินขึ้นลงบันได
5.หลังผ่าตัดวันที่ 4 จะเป็นการสรุปการฝึกเดินทั้งหมด และแนะนำวิธีการฝึกใช้กำลังเข่าและขา หากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินได้คล่อง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
ดูแลตัวเองอย่างไร ขณะพักฟื้นที่บ้าน
1.ใน 2 สัปดาห์แรก ควรฝึกเดินด้วยไม้ค้ำยันหรือคอกช่วยเดิน เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวกดทับหัวเข่ามากเกินไป และป้องกันการลื่นล้ม โดยควรฝึกเดินในระยะสั้นๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระยะทางและเวลาการฝึกให้มากขึ้น
2.เมื่อต้องนั่งห้อยขาหรือทำกิจกรรมอื่นเป็นเวลานาน ควรหาเวลานอนพักและยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้หมอนหนุนบริเวณขา เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของเลือดและของเหลวในร่างกาย แนะนำให้ใช้แผ่นประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมต่อเนื่อง ผู้ป่วยสามารถนอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัดได้ แต่ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าให้ขาข้างที่ผ่าตัดถูกทับนานเกินไป
3.บริหารหัวเข่าและกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกต้องขยันฝึก เพื่อป้องกันข้อเข่าติด แข็ง งอ หรือเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่
4.การฝึกขึ้นลงบันไดให้เอาขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดขึ้นก่อน แต่ในการลงบันไดให้เอาขาข้างที่เจ็บหรือข้างที่ผ่าตัดลงก่อน โดยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือแนะนำให้ฝึกขณะที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
5.ทำกิจวัตรประจำวันอย่างช้าๆ เช่น เวลาเอี้ยวตัว หมุนตัว ก้มตัว ลุกขึ้นนั่งจากที่นอน การล้มตัวลงนอน การลุกขึ้นยืน
6.ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เพื่อลดการรองรับน้ำหนักของหัวเข่า
7.ดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
8.หากจะต้องรักษาฟัน ขูดหินปูน ทำฟัน ถอนฟัน หรือรักษาโรคอื่นๆ ใน 2-3 ปีหลังจากการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาหาแนวทางป้องกันการติดเชื้อที่อาจลุกลามไปถึงเข้าเข่าเทียมได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
- หลีกเลี่ยงการขับรถใน 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักใน 6 สัปดาห์แรกหลักการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งบนเก้าอี้เตี้ย หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อยเกินไป
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ ที่ต้องงอหัวเข่ามากๆ หรือยืด-หดหัวเข่าอย่างรวดเร็ว หรือบิด-หมุนเข่า
- หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ กระแทก กระโดดหรือใช้เข่ามากๆ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส วิ่ง
- หลีกเลี่ยงการเดินหรือทำกิจกรรมในที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่เดินบนพื้นที่เปียก โดยเฉพาะบริเวณห้องน้ำ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่อยู่ในท่วงท่าที่ต้องบิดเข่าหรืองอเข่าเกินกว่า 90 องศา
- หลีกเลี่ยงการก้มหยิบของทุกกรณี
- หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ยที่ทำให้เกิดการงอเข่ามาก
แม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะช่วยให้การผ่าตัดข้อเข่ามีขนาดบาดแผลที่เล็กลงและไม่น่าเป็นห่วงมากนัก คนไข้จึงสามารถฟื้นตัวจากแผลผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนของการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้สมานติดกัน ยังต้องอาศัยความเข้าใจ ความเอาใจใส่ของคนไข้และคนรอบข้าง เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเปาโล
โควิดวันนี้ (12ก.ค.65) ติดเชื้อเพิ่ม1,679 ราย ปอดอักเสบยังไม่ลด
ผู้ป่วยโควิด-19 มีเสมหะเยอะ แนะ 3 วิธีแก้เบื้องต้นด้วยตนเอง