ตรวจสมรรถภาพปอด พยากรณ์โรคด้วยการการเป่าปอด ใครบ้างเสี่ยงปอดพัง?
การตรวจสมรรถภาพปอด โดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถบอกโรคและพยากรณ์โรคได้ล่วงหน้า ขั้นตอนง่ายไม่ซับซ้อน ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงเช็กได้
การที่ต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การสูบบุหรี่ หรือแม้แต่โรคระบาดทำให้แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยโรคปอดสูงขึ้นเรื่อยๆ และการตระหนักของโรคปอดของคนทั่วไปอาจไม่เทียบเท่ากับ โรคหัวใจ,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคมะเร็ง เช่น คนมักมองข้ามอาการไอเรื้อรัง ที่ซื้อยามากินเอง หรือตั้งใจจะปล่อยให้หายเองแม้นั้นจะเป็นสัญญาณแรกเกี่ยวกับสุขภาพของปอดซึ่งเมื่อปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการตรวจและรักษาอย่างตรงจุด อาจลุกลามรุนแรงจนยากที่จะรักษาให้หายดีได้
เปิดแหล่งอาหารที่ควรกิน-หลีกเลี่ยง เพิ่มความแข็งแกร่งให้ "ปอด"
12 พฤศจิกายน “วันปอดอักเสบโลก” ชวนรู้ทันโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนปีละล้าน
จริงอยู่ที่เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ปอดของเรากำลังป่วยจนกว่าจะเกิดอาการแสดง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นโรคก็มักอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว เพราะปอดเป็นอวัยวะที่ได้ชื่อว่ามีความทนทานสูงจึงเก็บอาการไว้นาน แต่การตรวจที่เรียกว่า “การตรวจสมรรถภาพปอด” (Pulmonary Function Tests : PFTs) จะช่วยคัดกรองและสามารถตรวจพบอาการเริ่มต้นที่ซ่อนอยู่ได้ กลุ่มที่ควรเช็กระยะของปอด
- คนที่สูบบุหรี่ หรือได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสองเป็นประจำ
- ผู้ที่ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือขี่รถจักรยานยนต์เป็นประจำ
- ผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะสูง เช่น ใกล้โรงงานอุตสากรรม ใกล้ถนนใหญ่
- มีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกหายใจลำบาก
- เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้อากาศ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง
- ทำงานในที่มีมลภาวะสูง เช่น ในโรงงานที่มีฝุ่น เหมืองแร่ โรงโม่หิน มีไอสารเคมี ใกล้ถนนใหญ่ที่การจราจรพลุกพล่าน หรือผู้ได้รับไอน้ำมันจากการปรุงอาหารสม่ำเสมอ
- ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นวัณโรค
- คนทั่วไปที่แม้ไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวมา
การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests : PFTs) เป็นทั้งการตรวจคัดกรอง และการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค รวมถึงประเมินผลการรักษาโรคทางระบบการหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดจากการทำงาน ผลการตรวจสามารถบอกได้ถึงความเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่จะแสดงอาการ เช่น อาการเหนื่อยหอบที่ยังไม่ปรากฏ แต่เมื่อตรวจสมรรถภาพปอดอาจพบว่าสภาพปอดได้เสียหายไปมากแล้ว
โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องออกแรงเป่าอากาศอย่างเต็มที่ (Maximal Effort) โดยทั้งการสูดลมและการเป่าต้องทำทางปาก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคย ทั้งนี้ ผู้ควบคุมการตรวจ (Technician) ที่มีความชำนาญและประสบการณ์จะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ
การตรวจสมรรถภาพปอดด้วย วิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) คืออะไร?
เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Spirometer เพื่อวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะแสดงเป็นกราฟบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรและเวลาเรียกว่า Spirogram การตรวจด้วยวิธีนี้ มีข้อดีคือ
- ใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
- ทำได้ง่าย ใช้เวลาเพียง 15-30 นาที
- ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ดี มีหลายค่าที่สามารถวัดได้และให้ประโยชน์มาก
การประเมินผลการตรวจ การตรวจด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) จะแสดงค่าสมรรถภาพปอดได้ ดังนี้
- ค่า FVC (Forced Vital Capacity ) ปริมาตรอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรง หลังจากหายใจเข้าอย่างเต็มที่ โดยค่า FVC นี้จะแสดงถึงปริมาตรอากาศที่จุอยู่ในปอดเกือบทั้งหมด ค่านี้จะลดต่ำลงเมื่อเนื้อเยื่อปอดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดพังผืด หรือปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ภาวะนี้จะเรียกว่า RESTRICTIVE คือ มีการจำกัดการขยายตัวของปอด โดยค่าปกติของ FVC จะต้องมีปริมาตรของอากาศมากกว่า 80%
- ค่า FEV 1 (Forced Expiratory Volume in one second) คือปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 ซึ่งค่า FEV 1 จะถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดในการตรวจสมรรถภาพปอด ค่า FEV 1 ที่ได้ จะนำมาคำนวณร่วมกันกับค่า FVC เพื่อหาค่า FEV 1 / FVC% โดยค่าปกติจะต้องมีปริมาตรของอากาศมากกว่า 80%
- ค่า FEV 1 / FVC% คือร้อยละของปริมาตรอากาศที่เป่าออกมาได้ในวินาทีที่ 1 ต่อปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาได้มากที่สุดอย่างเร็วแรง ค่านี้จะแสดงถึงการอุดกั้นของหลอดลมได้ดีที่สุด โดยค่า FEV 1 / FVC% จะแสดงถึงความสามารถของการเป่าอากาศออกจากปอด ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแรงของผู้เข้ารับการทดสอบ และลักษณะของทางเดินหายใจ ถ้าทางเดินหายใจถูกอุดกั้น หรือมีความยืดหยุ่นตัวลดลง อากาศจะผ่านออกลำบาก ค่าที่คำนวณได้ก็จะลดน้อยลง เราเรียกภาวะนี้ว่า OBSTRUCTIVE หรือมีการอุดกั้นหรือบีบของหลอดลม ซึ่งค่าที่เป็นปกติจะต้องมากกว่า 70%
วิธีคัดกรองมะเร็งปอดด้วยวิธี Low dose CT scan แม่นยำปลอดภัยกว่าเดิม
- การอุดกั้นของหลอดลมในผู้ที่เป็นโรคหืด
- โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่
- โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- ความยืดหยุ่นและความจุของปอดลดลง ในผู้ที่มีโรคของเนื้อปอด
- ผู้ที่โครงสร้างกล้ามเนื้อหรือกระดูกที่ช่วยในการหายใจผิดปกติ หรือหลายโรคร่วมกัน
การตรวจสมรรถภาพปอดจะทำให้เราทราบถึงประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะปอด ซึ่งต่างจากการตรวจเอกซเรย์ปอดที่เป็นการตรวจหารอยโรคในปอด จึงเป็นทั้งการป้องกันการลุกลาม ก่อนที่ปอดจะถูกทำลายไปมากจนไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาหายใจได้ตามปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการรักษาอีกด้วย
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท
หมอหนุ่มโพสต์เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เผยดูแลตัวเองอย่างดี ไม่มีประวัติสูบบุหรี่
มะเร็งปอด พบบ่อยในคนไทย แนะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง