เช็กสัญญาณแรก “เบาหวานขึ้นตา”ปล่อยไว้นาน เสี่ยงตาบอด รู้ก่อนรีบรักษาได้
“หวานจนขึ้นตาเลย!” คำอุทานที่ไว้เล่นกันเวลาที่ได้กินอาหารที่หวานมากๆ แต่แท้จริงแล้ว เบาหวาน สามารถขึ้นตาได้หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอ และ ปล่อยทิ้งไว้นานอาจลุกลามรุนแรง อาจสูญเสียการมองเห็นได้
สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกในปี 2564มีประมาณ 537 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย ช่วงอายุ 20-79 ปี มีมากถึง 8.3% ของประชาการ และจำนวนมากกว่าครึ่งไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน
เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) คือ ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ส่งผลต่อดวงตา ยิ่งเป็นเบาหวานนานขึ้นและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยลง โอกาสที่จะเป็นเบาหวานขึ้นตาก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
สัญญาณเตือน “โรคเบาหวาน” รู้สึกมดไต่ที่ปลายนิ้ว-แผลหายช้า
น้ำตาลในเลือดต่ำไป-สูงเกิน ภาวะระวังของผู้ป่วยเบาหวาน
หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานน้ำตาลในเลือดมากเกินไปอาจนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงเรตินา (Retina) ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่ได้ ส่งผลให้ดวงตาพยายามสร้างเส้นเลือดใหม่ แต่หลอดเลือดใหม่เหล่านี้ไม่พัฒนาอย่างถูกต้องและอาจรั่วไหลได้ง่าย ซึ่งทําให้ผู้ป่วยเบาหวานตาบอดได้มากกว่าคนปกติถึง 25 เท่า
ระยะของเบาหวานขึ้นตา
- เบาหวานขึ้นตาระยะแรก หรือระยะหลอดเลือดใหม่ไม่เติบโต (Nonproliferative diabetic retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดในเรตินาอ่อนแอลง มีรอยนูนเล็กๆ ยื่นออกมาจากผนังของหลอดเลือดขนาดเล็ก บางครั้งของเหลวและเลือดจะไหลเข้าสู่เรตินา เส้นเลือดจอประสาทตาที่ใหญ่ขึ้นสามารถเริ่มขยายออกและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่สม่ำเสมอได้เช่นกัน สามารถพัฒนาจากอ่อนไปเป็นรุนแรงได้ เนื่องจากหลอดเลือดอุดตันมากขึ้น หากเกิดการสะสมของของเหลวในส่วนตรงกลาง (macula) ของเรตินา อาจทำให้การมองเห็นลดลง จำเป็นต้องรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
- เบาหวานขึ้นตาขั้นสูง หรือระยะหลอดเลือดใหม่เจริญเติบโต (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เบาหวานขึ้นตาที่พัฒนาสู่ภาวะที่รุนแรง โดยเส้นเลือดที่เสียหายปิดตัวลงทำให้เกิดการเติบโตของเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติในเรตินา หลอดเลือดใหม่เหล่านี้เปราะบางและสามารถรั่วไหลเข้าไปในวุ้นตา อาจทำให้จอตาลอก (Retinal Detachment) หรือหากหลอดเลือดใหม่ขัดขวางการไหลของน้ำจากดวงตาตามปกติ ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น จนสามารถทำลายเส้นประสาทที่นำภาพจากดวงตาไปยังสมอง ส่งผลให้เกิดโรคต้อหิน
อาการเบาหวานขึ้นตา ในระยะแรก อาจไม่แสดงอาการใดๆ หรือไม่ส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและมองข้ามความสำคัญของการตรวจตา จนเมื่อแสดงอาการ อาจสายเกินไป
- มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำลอยอยู่ในสายตา
- มองเห็นภาพซ้อน หรือบิดเบี้ยว
- การมองเห็นแย่ลง
- แยกแยะสีได้ยากขึ้น
- เห็นภาพมืดหรือว่างเปล่าเป็นบางจุด
- สูญเสียการมองเห็น
ปัจจัยเสี่ยง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนมีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นตา และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจาก
- เป็นเบาหวานมานาน
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
- ความดันโลหิตสูง
- คอเลสเตอรอลสูง
- การตั้งครรภ์
- การสูบบุหรี่
การตรวจวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรเพิ่มการตรวจตาและขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตา แม้ไม่มีอาการ เกี่ยวกับการมองเห็นใดๆ เพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยทุก 1-2 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค
การป้องกันเบาหวานขึ้นตา การตรวจตาเป็นประจำ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต รวมถึงการสังเกตภาวะการมองเห็นในระยะเริ่มต้น สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถลดความเสี่ยงภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ ดังนี้
- ควบคุมโดยการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ลดแป้ง อาหารไขมันสูง อาหารแปรรูป และอาหารปรุงแต่งรส โดยเฉพาะ หวานจัด เค็มจัด
- พยายามออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- รับประทานยา หรือฉีดอินซูลินตามแพทย์แนะนำ พบแพทย์ตามนัด
- รักษาระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ
- งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของโรคเบาหวาน รวมถึงเบาหวานขึ้นตา
- ใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงการมองเห็น โดยรีบพบแพทย์ทันที หากการมองเห็นเปลี่ยนไปหรือเห็นภาพพร่ามัว
รู้จัก CGM ตัวช่วยผู้ป่วยเบาหวานวัดระดับค่าน้ำตาลได้แบบเรียลไทม์
การรักษาเบาหวานขึ้นตา
วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตาขึ้นกับระยะของโรค กรณีตรวจพบเบาหวานขึ้นตาระยะแรก อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที การควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตและไขมันในเลือด รวมถึงพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ช่วยลดโอกาสภาวะของโรคที่รุนแรงและสูญเสียการมองเห็น แต่สำหรับภาวะเบาหวานขึ้นตาขั้นสูง แพทย์จะพิจารณาการรักษารายบุคคลโดยมีวิธีการรักษาดังนี้
- รักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อรักษาและควบคุมการรั่วซึมของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งต้องทําในระยะที่เลือดยังไม่ออกมากจนบังจอประสาทตา อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น เพียงแค่ช่วยชะลอหรือป้องกันไม่ให้สายตาแย่ลง
- การฉีดยาเข้าวุ้นตา เพื่อยับยั้งการเติบโตของหลอดเลือดใหม่ ทำให้การมองเห็นไม่แย่ลง บางกรณีอาจช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้
- การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) เพื่อเอาเลือดและพังผืดออกจากน้ำวุ้น ในผู้ป่วยที่เลือดออกในวุ้นตามาก หรือมีพังผืด ที่ทำให้จอตาหลุดลอกหรือฉีกขาด เพื่อป้องกันภาวะตาบอดถาวร
ทั้งนี้อยากเน้นย้ำว่า โรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นเสมอไป การควบคุมเบาหวาน ดูแลสุขภาพ พบแพทย์ตามนัดและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ สามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและโรคสงบใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้อย่างแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ