อาการ“กล้ามเนื้อหัวใจตาย”ภัยแฝงความเครียด กว่าครึ่งเสียชีวิตทันที
สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำอัดลมแทนน้ำเปล่า นอนน้อย ความเครียดสะสม คือสัญญาณของ Work Life Balance ไม่ดี สุ่มเสี่ยงเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน กว่าครึ่งเสียชีวิตทันที
จากกรณีที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก "จอดับ" ออกมาโพสต์เมื่อ 5 ก.พ. ว่า พนักงานสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของไทย เสียชีวิตในที่ทำงานจากการทำงานต่อเนื่อง ไม่มีเวลาพักผ่อน ล่าสุดทางบริษัทต้นสังกัดได้ออกมาจดหมายแสดงความเสียใจและพร้อมรับผิดชอบช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งได้บอกสาเหตุของการเสียชีวิต ว่าเป็นอาการ“กล้ามเนื้อหัวใจตาย” ซึ่งนับเป็นอุทาหรณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Myocardial infarction) เกิดจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวหรือมีไขมันเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ตามสถิติในประเทศไทยพบว่ามีการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจปีละประมาณ 50,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจหยุดเต้นตามมา ซึ่งจะพบได้ประมาณ 40% ของผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด กล่าวคือ ถ้ามีผู้ป่วย 100 คน จะมี 40 คนที่เสียชีวิตทันทีหลังจากมีอาการ เนื่องจากหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เกิดภาวะให้หัวใจหยุดเต้นหรือเต้นกระตุกและเสียชีวิตทันที
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรค
- มักเกิดในชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และ หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือวัยหลังหมดประจำเดือน
- โรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง
- การสูบบุหรี่จัด
- ดื่มน้ำอัดลมแทนน้ำเปล่า
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- โรคเบาหวาน
- ความอ้วน
- ความเครียดสะสม
- การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
อาการทั่วไป
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เหงื่อออก
- เวียนศีรษะ
สัญญาณอันตรายคือ อาการเจ็บหน้าอกที่มีลักษณะเฉพาะ
- เจ็บตรงกลางหน้าอก เยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย
- จุกแน่น อึดอัด บางทีร้าวไปถึงคอหอย ไหล่ซ้าย ข้อศอก หรือท้องแขนซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย
- บางรายมีอาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ เหงื่อซึม หน้ามืดหมดสติ
ทำอย่างไรเมื่อแน่นหน้าอกรุนแรง
ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและใจสั่น ได้แก่
- ควบคุมความดันโลหิตและเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เพราะคนอ้วนหัวใจต้องทำงานมากกว่าปกติ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- เลี่ยงอาหารที่มีไขมัน
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินและสารอื่น ๆ มีอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว ลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
ทั้งนี้โรคดังกล่าวส่วนมากเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากต้องการเลี่ยงคือการปรับ Work Life Balance เพื่อให้เกิดความสดดุลในชีวิต รักตัวเอง รักสุขภาพตัวเองก่อนเสมอ แล้วรู้หรือไม่ ทำงานหนักติดต่อกันนานเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 50 วันต่อปี มีโอกาสเสี่ยง "โรคหลอดเลือดสมอง"ในคนวัยทำงานเพิ่มขึ้นอีก 29% ด้วย อย่างไรก็ตามหากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ที่สำคัญอย่าละเลยตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อเช็กอัพร่างกายหากพบความเสี่ยงโรคจะได้รักษาได้อย่างทันท้วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
6 สัญญาณ“ทำงานหนักเกินไป” WHO เตือน มีผู้เสียชีวิตต่อปีราว 7.5 แสนคน
อายุน้อยก็เป็นได้! 5 สัญญาณเตือนโรคหัวใจ วิธีดูแลให้สมดุลแข็งแรงตลอดชีวิต