5 เคล็ดลับดื่มน้ำให้ไตให้แข็งแรง ล้างความเชื่อดื่มน้ำมากเสี่ยงไตวาย
น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย ช่วยขจัดของเสียออกทางปัสสาวะ ทำให้การทำงานของร่างกายเกิดสมดุล เป็นองค์ประกอบในเลือดที่จะพาส่วนประกอบของเลือดและสารอาหารต่าง ๆ ไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยป้องกันการเกิดนิ่ว ทำให้ผิวพรรณเต่งตึง ช่วยระบบขับถ่าย และดูแลไตให้แข็งแรง แล้วดื่มน้ำอย่างไร?ถึงจะดู เช็กลิสต์ 5 เคล็ดลับได้ที่นี้ค่ะ!
5 เคล็ดลับการดื่มน้ำที่ช่วยดูแลไตและร่างกายให้แข็งแรง
- ดื่มน้ำดีต่อร่างกายแน่
ส่วนใหญ่มักแนะนำให้ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน แต่ไม่เสมอไปสำหรับทุกคน จากการศึกษาของ The United States Academies of Sciences, Engineering and Medicine เฉลี่ยปริมาณน้ำที่ควรดื่มในผู้ชายจะอยู่ที่ 15.5 แก้วหรือประมาณ 3.7 ลิตร ในขณะที่ผู้หญิงแนะนำที่ 11.5 แก้วต่อวันหรือ 2.7 ลิตร
8 สัญญาณ “โรคไตเรื้อรัง” ไม่ติดกินเค็มก็เป็นได้ ไม่จำกัดอายุ
ปัสสาวะเป็นเลือด-มีฟอง สัญญาณ “โรคไต” เร่งรักษาก่อนเสี่ยงไตวาย
อย่างไรก็ตามในแต่ละคนมีความต้องการน้ำแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ การออกกำลังกาย สภาพอากาศ การเจ็บป่วย การสูญเสียน้ำ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร เป็นต้น สามารถสังเกตอาการกระหายน้ำ ซึ่งบ่งบอกว่าร่างกายมีอาการขาดน้ำและต้องการน้ำเพิ่มเติม
- สีปัสสาวะบอกความต้องการน้ำในแต่ละวันได้
ปัสสาวะสีเหลืองเข้มบ่งบอกได้ว่าร่างกายขาดน้ำและเมื่อปัสสาวะเหลืองจางลงอาจบ่งบอกได้เช่นกันว่าดื่มน้ำได้เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานยาบางชนิดอาจมีผลต่อสีปัสสาวะเหลืองได้ เช่น วิตามินบีรวมหรือวิตามินบี 2 ฯลฯ
- ระวังบางภาวะที่อาจเกิดจากดื่มน้ำมากเกินไป
พบบ่อยในกลุ่มคนที่มีอาการทางจิตเวช อาจดื่มน้ำปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน หรือกลุ่มนักวิ่งมาราธอนที่ต้องการดื่มน้ำชดเชยปริมาณมาก แม้การทำงานของไตจะเป็นปกติ แต่ก็อาจเกิด “ภาวะน้ำเป็นพิษ” จากการที่มีน้ำเจือจางเกลือโซเดียมในร่างกายจนเกิด “ภาวะเกลือโซเดียมต่ำ” เป็นภาวะอันตรายต่อชีวิต ทำให้เกิดอาการสมองบวมได้
‘น้ำเปล่า’ประโยชน์คับแก้ว แต่หากดื่มเกินลิมิตเสี่ยง“ภาวะน้ำเป็นพิษ” ถึงขั้นเสียชีวิต
- จำกัดน้ำอาจจำเป็นบางกรณี
กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือมีโรคน้ำท่วมปอดจากโรคหัวใจจะมีอาการบวมหรือเหนื่อยหอบได้ง่ายจากการที่มีน้ำและเกลือคั่งในร่างกาย นอกจากนี้ความสามารถในการกำจัดน้ำออกจากร่างกายลดลง ดังนั้นการดื่มน้ำปริมาณมากอาจไม่เป็นผลดี แต่การจำกัดน้ำมีความจำเป็น
- ลดการดื่มน้ำบางวันลงได้
กรณีจำเป็นต้องเดินทางและไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้นในบางสถานการณ์สามารถผ่อนผันการดื่มน้ำได้ อย่างไรก็ตามเมื่อติดเชื้อทางเดินปัสสาวะการดื่มน้ำมีความจำเป็นในการช่วยขจัดเชื้อโรคออกไปทางปัสสาวะ
ไตวายเฉียบพลัน VS ไตวายเรื้อรัง แตกต่างกันอย่างไร? อะไรคือสัญญาณโรค?
อย่างไรก็ตาม คนไทยหลายคน ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ว่า “การดื่มน้ำมาก ๆ ทำให้ไตวาย” ในความจริงแล้ว น้ำจะช่วยเจือจางสารพิษที่ไปสู่ไตและการที่เรามีปัสสาวะออกดี ไม่ได้แปลว่า “ไตของเราต้องทำงานหนักขึ้น” แต่แสดงถึงการขับของเสียที่มีประสิทธิภาพ
- ทำไมคนไข้ไตวายระยะสุดท้าย..ควรดื่มน้ำน้อยๆ ?
คนไข้ไตวายในระยะสุดท้าย บางรายอาจมีปัญหา น้ำคั่งหรือท่วมปวดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ต้องได้รับการล้างไตต่อเนื่องเพื่อประทังชีพ คนไข้เหล่านี้ มักจะไม่มีปัสสาวะเลย ดังนั้น หากดื่มน้ำมากไปก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในร่างกายได้ ซึ่งตามมาด้วยภาวะเกลือแร่เจือจางหรือน้ำท่วมปอด แต่ไม่ได้แปลว่าการดื่มน้ำน้อย ๆ นั้น มีผลดีต่อสุขภาพแต่ประการใดและยิ่งเป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนจึงตรวจปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละคน
- รู้หรือไม่? น้ำประปาต้ม..ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด
น้ำที่ดื่มนั้น ควรจะเป็นน้ำกรอง คนส่วนใหญ่จะชอบเอาน้ำประปามาต้ม อันที่จริง ในกระบวนการทำน้ำประปา จะต้องมีการใส่เกลืออลูมิเนียม เพื่อช่วยให้สิ่งสกปรกตกตะกอน และมีการใส่คลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผล ที่จะต้องมาต้มเพราะกลัวเชื้อโรคกันอีก การต้มกลับส่งผลให้พิษโลหะหนักที่มีอยู่ในน้ำประปา ยิ่งเข้มข้นมากขึ้น
การดื่มน้ำนับเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตไม่แพ้อาหาร หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต หรือ ผู้ที่สุ่มเสี่ยงและต้องการฟื้นฟูดูแลไต
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลพญาไท